ปรับกาย-ปรับใจ-วางใจ
เมื่อเราได้จุดเทียนใจไฟนิรันดร์อนันตชัย
เพื่อบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปให้ลูกทุกคนนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน
หลับตาเบาๆ
พอสบายๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ อย่างสบายๆ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ จำง่ายๆ
ว่า อยู่ในกลางท้อง
เราปรับตรงนี้ให้ถูกส่วน
คือ หลับตาเบาๆ ผ่อนคลายสบาย หยุดใจไว้ที่กลางกาย พยายามจับจุดให้ได้ โดยวางใจของเราประสานสอดคล้องกับการหลับตา
ตรงนี้สำคัญนะลูกนะ อย่าฟังผ่าน อย่าดูเบา ถ้าลูกทุกคนฝึกตรงนี้ได้ จับจุดได้ มันจะง่ายในการที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
หรือง่ายต่อการทำให้ใจโล่ง โปร่ง เบา สบาย ตัวจะขยายแล้วก็หายไป
ต้องฝึกฝนทุกวันนะ
สม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตว่า วันไหนเราทำได้ดี เราก็จำวิธีการทำนั้น โดยสอดคล้องกันระหว่างหลับตากับหยุดใจในกลางกายที่พอเหมาะพอดีกัน
บริกรรมนิมิต
กำหนดบริกรรมนิมิต
เป็นดวงใส องค์พระ พระเดชพระคุณหลวงปู่ เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องจำวิธีการที่เราทำได้ผล
ซึ่งไม่มีอะไรยาก คือ ทำธรรมดาง่ายๆ คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่คุ้นเคย ตรงนี้สำคัญนะลูกนะ
ต้องฝึกทุกวัน
สมาธิภาวนา
คือ งานหลักของชีวิต
ต้องมีจิตสำนึกว่า
สิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อชีวิตในสังสารวัฏล้วนแต่มีทุกข์โทษ
เราจะต้องฝึกฝนอบรมใจให้หยุดให้นิ่งเช่นเดียวกับบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน หรือผู้ที่พ้นแล้วเห็นภัยในวัฏสงสาร
ท่านก็มาหยุดนิ่งอย่างนี้
เพราะฉะนั้น
กิจที่เราทำอยู่เป็น กรณียกิจ คือ งานที่แท้จริงของชีวิต ส่วนงานอื่นแค่เป็นเรื่องรองลงมา
เช่น การศึกษาเล่าเรียน การทำมาหากิน เพียงเพื่อให้ได้ปัจจัยสี่มาหล่อเลี้ยงสังขาร
แต่ถ้าชีวิตหนึ่งเราทำเพียงแค่นี้ เราจะไม่ประสบความสุขที่แท้จริง ชีวิตก็ยังทุกข์ทรมาน
เวลาใกล้จะละโลกเราจะไม่มีที่พึ่ง เมื่อมีชีวิตใหม่หลังจากตายแล้วก็จะลำบาก เพราะไม่ได้สั่งสมบุญเอาไว้
เนื่องจากไม่เข้าใจเรื่องราวความเป็นจริงและวัตถุประสงค์ของชีวิต
ดังนั้น ต้องมีจิตสำนึกลึกๆ ว่า การหลับตาเจริญสมาธิภาวนานี้เป็นงานหลัก
งานที่แท้จริงของชีวิต
ถ้าลูกทุกคนคิดอย่างนี้ได้ เราจะขยัน มีความเพียรในการทำสมาธิ เพราะเห็นคุณค่าและความสำคัญอย่างถูกหลักวิชชา
จะได้ดำเนินรอยตามพระอริยเจ้าที่ท่านเป็นผู้พ้นแล้ว
สำนึกลึกๆ ตรงนี้ จะทำให้เราขยันในการทำความเพียร และหมั่นสังเกต เราจะจับจุดได้ว่า หลับตาอย่างไรถึงจะสอดคล้อง ผสมผสาน
กลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวกับการหยุดนิ่งภายใน หรือการกำหนดบริกรรมนิมิต หรือประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆ
ทั้งหมดต้องผสมผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว เหมือนวงดนตรี เหมือนอาหารที่อะไรหลายอย่างมาผสมปรุงกันให้ถูกส่วนอยู่ในจานนั้น
อาหารทางใจก็ต้องปรุงให้เป็น
ตรงนี้ต้องฝึกกัน ฝึกฝนทุกวัน หมั่นสังเกต เดี๋ยวเราจะพบหนทางความสำเร็จ หลังจากนั้นก็ง่ายแล้ว
เราก็ทำอย่างนั้นจนกว่าใจจะตั้งมั่นเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตา เบาๆ สบายๆ นี่คือสิ่งสำคัญนะลูกนะ
ไม่ว่าจะมีเวลากี่นาทีที่ว่างจากภารกิจทางโลก
ก็หมั่นตรึก หมั่นนึก หมั่นคิดในทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรม ใจจะได้คุ้น แค่การได้นึกถึงศูนย์กลางกายฐานที่
๗ อย่างเบาสบาย ไม่ว่าจะหลับตา ลืมตา จะอยู่ในอิริยาบถหรือกิจกรรมใด ถือว่าเป็นช่วงที่งดงามของชีวิต
นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ
ฝึกหยุดนิ่งให้สอดคล้องกับการหลับตา
กับการวางใจ
หมั่นตรึก
หมั่นนึก หมั่นคิดเรื่อยๆ อย่าไปกังวลเรื่องความมืด เพราะเราไม่ได้ไปควานหาอะไรในที่มืด
เรากำลังฝึกหยุดนิ่งในระดับแห่งการสอดคล้องกันของการหลับตา การวางใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะความสุขและความสว่าง รวมทั้งแผนผังชีวิตมีอยู่แล้วในตัวของเรา
ไม่ต้องกังวลว่า
เราจะทำไม่ได้ ไม่เห็น หรือเห็นช้ากว่าคนอื่นเขา อะไรต่างๆ ไม่ต้องไปคิดกังวล ฝึกตรงนี้ให้ได้
ถ้าทำเป็นก็เห็นภาพ ทำเป็นเร็วก็เห็นเร็ว ทำเป็นช้าก็เห็นช้า แค่นั้นเอง เรามาฝึกตรงนี้
ฝึกหยุดฝึกนิ่ง
เราจะต้องจับหลักให้ได้ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านสอนเราว่า
หยุดเป็นตัวสำเร็จ มืดสว่างไม่ต้องไปคำนึงถึง
นี่ถ้อยคำของท่าน เราก็หยุดนิ่งๆ
จะต้องได้ความสุขทุกครั้งที่เกิดจากการทำสมาธิภาวนา
ไม่ว่าสุขน้อยหรือสุขมาก หรืออย่างน้อยก็ตัวโล่ง โปร่ง เบา สบาย หรือนิ่งๆ นุ่มๆ
อยู่ในกลางกาย เป็นรางวัลในทุกๆ รอบทุกครั้งที่เราหลับตา ต้องทำกันอย่างนี้ให้ได้ทุกวัน
ต่อไปก็จะค่อยๆ
ขยายเวลาแห่งความสมหวังขึ้นมาเอง จากหยุดนิ่งได้ ๑ นาที ก็เป็น ๒ นาที ๓ นาที มันก็ค่อยๆ
ขยายไป จากมืดมากก็มามืดมัว แล้วก็มืดมั่ง แล้วก็ไม่มืด เป็นขั้นเป็นตอนเป็นรางวัลของชีวิต
ที่เกิดจากการหลับตาเจริญสมาธิภาวนา
ลูกทุกคนจะมีความรู้สึกว่า
สนุก เบิกบาน ไม่มีการฝืนใจในการทำสมาธิ ไม่มีการพยายามจนเกินไปที่จะทำให้สมาธิเกิด
แต่เป็นไปตามขบวนการธรรมชาติ เหมือนการหายใจเข้าออกโดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปตั้งใจอะไรเลย
การหายใจเข้าออกมันก็มีเป็นไปตามปกติ จะช้าจะเร็วก็เป็นอย่างที่หลวงพ่อได้พูดไว้ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงตรงนี้
ถ้าเราทำได้
มันก็เร็ว ถ้าทำยังไม่ได้ แล้วไม่ค่อยจะได้ทำ มันก็ช้า ถ้ารักตัวเอง เราต้องทำอย่างที่ได้แนะนำไป
นึกถึงบุญ
ตอนนี้เราก็รวมใจหยุดนิ่งๆ
ไว้ที่กลางกาย นึกถึงบุญที่ทำผ่านมาในทุกๆ บุญ รวมทั้งบุญล่าสุด ที่ได้ร่วมกันอัญเชิญรูปหล่อทองคำของพระเดชพระคุณหลวงปู่
ไปประดิษฐานที่มหาวิหารเป็นการถาวร มีเพียงครั้งเดียว ไม่มีครั้งที่ ๒ เราได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ
ทั้งทำด้วยตัวเองแล้วก็ไปชวนคนอื่นมาร่วมบุญด้วย ชักชวนให้คนทำความดี มาเชื่อมสายบุญกับพระเดชพระคุณหลวงปู่
นึกถึงบุญเหล่านี้เอาไว้กลางกาย เป็นดวงใสๆ
วันนี้ มาพ้องกันกับเป็นวันที่ละสังขารของคุณยายอาจารย์ของเราครบ
๖ ปี ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ก็ ๙๘ ปี ท่านทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาธรรมปฏิบัติ ประดุจพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านยังมีชีวิตอยู่
เพราะคุณยายอาจารย์รักษาคำสอนนี้เอาไว้ แล้วก็นำมาถ่ายทอดกระทั่งมาถึงพวกเราในวันนี้
ทั้งได้สร้างวัดวาอาราม
ศาสนวัตถุ รองรับพวกเราให้ได้มาสร้างความดี สร้างบารมี มาปฏิบัติธรรม เป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่สุดที่จะพรรณนา
ปรารภเหตุนี้เจริญสมาธิภาวนาถวายบูชาธรรมท่าน
ถ้าใจเราคิดอย่างนี้ได้ แปลว่าใจดวงนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมความกตัญญูกตเวที รู้ซึ้งถึงพระคุณแล้วตอบแทนท่านด้วยการปฏิบัติบูชา
เป็นสิ่งที่ท่านปรารถนา และการทำนี้ก็เพื่อตัวของเราเอง และพลอยทำให้ท่านปีติยินดีในการที่ลูกหลานของท่านทุกคนสร้างบารมีเป็น
ดำเนินชีวิตถูกวัตถุประสงค์ของการมาเกิดเป็นมนุษย์ในครั้งนี้
ดวงบุญและบุญธาตุ
ตอนนี้เราก็นึกถึงบุญโดยปรารภเหตุ
ตั้งแต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ กระทั่งมาถึงคุณยายอาจารย์วันนี้ ให้เป็นดวงบุญใสๆ ติดอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่
๗ เป็นดวงบุญใสๆ กลมเหมือนดวงแก้วอย่างนี้ แต่อัดแน่นด้วย บุญธาตุ คือ
ความดีหรือกุศลธรรมที่เราทำผ่านมาอยู่ภายใน เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตทุกระดับ
ทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
บุญธาตุนี้อยู่ในกลางดวงบุญใสๆ
ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าบ้าง ใสเหมือนน้ำบ้าง ใสเหมือนเพชรบ้าง ถ้าใสเต็มส่วนก็ใสกว่าเพชร
ใสเกินใส ใสจนมีแสงออกเอง เป็นแสงแก้วที่นุ่มเนียนตาละมุนใจ ใสบริสุทธิ์อยู่ในกลางกายของเรา
แตะใจกลางดวงบุญ
ให้ลูกเอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงบุญนี้
แตะเบาๆ เหมือนเราใช้ระบบสัมผัส แตะเอา อย่าไปกดใจ แตะเบาๆ คือการวางใจนิ่งๆ นุ่มๆ
การแตะใจเบาๆ
คือการหยุดใจนิ่ง นุ่ม เบาๆ เดี๋ยวใจจะยิ่งใส ยิ่งบริสุทธิ์ จนเห็นความบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นด้วยดวงตาภายใน
คล้ายกับการที่เราเห็นวัตถุภายนอกหรือยิ่งกว่านั้น เหมือนเราส่องผ่านแว่นขยายกล้องส่องทางไกล
กล้องจุลทรรศน์ จะเห็นความใสความบริสุทธิ์ผุดเกิดขึ้นที่กลางกายตรงนี้
ให้ลูกทุกคนแตะใจไปเบาๆ
เมื่อใจใสถูกส่วนดีแล้ว เราจะได้พร้อมใจกันอธิษฐานจิตตั้งเป็นผังสำเร็จออกแบบชีวิตของเราไปในภพเบื้องหน้า
ตอนนี้ก็หยุดใจนิ่งกันไปที่กลางดวงบุญใสๆ ดังที่ได้กล่าวมา
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
เมื่อกาย
วาจา ใจ เราสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว ต่อจากนี้ไปเราจะได้พร้อมใจกันอธิษฐานจิตตั้งเป็นผังสำเร็จ
ให้ลูกทุกคนนั่งพับเพียบ หลับตาพนมมือขึ้น
กล่าวคำอธิษฐานจิต
ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ขอสักการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมหาปูชนียาจารย์ ด้วยการจุดเทียนใจ ไฟนิรันดร์อนันตชัย
ขอน้อมกราบไหว้ ด้วยความเคารพเลื่อมใส ในพรรษาแห่งการบรรลุธรรมนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความตั้งใจจริง
ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม และเพิ่มพูนคุณธรรม สั่งสม บ่มบารมี ทุ่มชีวีเป็นประธานกอง
ร่วมทอดกฐินสามัคคี ในพุทธศักราชนี้
ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย
เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เอาชนะอุปสรรคทั้งมวล ให้ประสบความสำเร็จในชีวิต
ในภารกิจหน้าที่การงาน และสิ่งที่พึงปรารถนา ให้เป็นบรมเศรษฐี มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง
เอาไว้ใช้สร้างบารมี อย่างไม่รู้หมดสิ้น
ให้มีกำลังใจเข้มแข็ง
ในการทำหน้าที่ผู้นำบุญ ยอดกัลยาณมิตร ให้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ จะเชิญชวนผู้มีบุญ ให้มาสร้างบารมี
เป็นประธานกองกฐินสามัคคี ขอให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ ให้นักสร้างบารมีทั้งหลาย ร่วมแรง
ร่วมใจกัน ทำงานกันไปเป็นทีม อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด ให้ทุ่มเทจนสุดกำลัง
โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคอันใด มุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย คว้าธงชัยแห่งความสำเร็จ
ให้เข้าถึงวิชชาธรรมกาย
มีดวงปัญญาสว่างไสว มีญาณทัสสนะกว้างไกล มีดวงตาสดใส ทั้งมังสะจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ
สมันตจักษุ และธรรมจักษุ ให้ได้บรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเดชพระคุณหลวงปู่
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์
ขนนกยูง ที่ท่านได้บรรลุ
ให้ความปรารถนาทั้งมวล
ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ ทุกประการเทอญ นิพพานะ
ปัจจโย โหตุ
------------------------------------------------
เรื่อง : งานหลักของชีวิต
โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
ผู้ฟัง : สาธุชน
สถานที่ : สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี
ในโอกาส : งานบุญวันอาทิตย์ (ภาคบ่าย)
เมื่อ : วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
เวลา : ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.
วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564