การศึกษาวิชชาธรรมกายนั้น
เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง จิตต้องบริสุทธิ์และไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง
ไม่เกาะเกี่ยวกับเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ จึงจะไปรู้เรื่องราวสิ่งเหล่านี้ได้
เพราะเรื่องราวเหล่านี้มันเหลือวิสัย และยากต่อการเข้าใจด้วยวิธีการให้เหตุผลแบบธรรมดา
จะไปหาหลักฐานอ้างอิง หรือจะใช้ความนึกคิดด้นเดาไม่ได้
แล้วก็เป็นสิ่งที่นอกเหนือจากนักการศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้ศึกษาค้นคว้ามา
เหมือนใบไม้ในป่าประดู่ลาย
สมัยหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านกอบใบไม้มากำมือหนึ่ง ถามพระภิกษุว่า “ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่าประดู่ส่วนไหนมีมากกว่ากัน”
ภิกษุก็ตอบว่า “ใบไม้ในป่าประดู่มีมากกว่าใบไม้ในกำมือ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
“สัพพัญญุตญาณของเรานั้น
รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวงโดยไม่มีขอบเขตจำกัด
แต่สิ่งที่เรานำมาสอนเธอนั้นเพียงนิดเดียว เพื่อเป็นทางหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
จากภพทั้ง ๓ จากกฎแห่งกรรม เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งเท่านั้น”
วิชชาธรรมกายเหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
ซึ่งนักปราชญ์และนักวิชาการในทางพุทธศาสนาในระดับโลกนั้นไม่ได้ให้โอกาสกับตัวเองในการศึกษาธรรมปฏิบัติให้ลึกซึ้งขึ้นไปก็ยากต่อการจะที่เข้าใจสิ่งนี้ได้
เพราะฉะนั้น คำว่า “วิชชาธรรมกาย” จึงรู้กันอยู่ในขอบเขตจำกัด สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาวิชชาธรรมกายในโรงงานทำวิชชาเท่านั้น
นอกนั้นก็รู้แต่เพียงว่า
ธรรมกาย คือ พระรัตนตรัยภายใน เป็นที่พึ่งที่ระลึก ไปนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้
ในที่สุดไปนิพพานก็ได้ ไปนรกสวรรค์ไปจับมือถือแขนสัตว์นรกหรือชาวสวรรค์ได้
พูดจาโต้ตอบกันได้ ญาติ บิดามารดา ปู่ย่าตายายไปตกนรก พระธรรมกายไปช่วยได้
ด้วยอานุภาพของพระธรรมกายที่ไม่มีประมาณ
นี่คือสิ่งที่ทุกคนที่อยู่นอกโรงงานทำวิชชาเข้าใจได้เพียงแค่นี้เท่านี้
จะรู้ซึ้งไปกว่านี้ ก็รู้กันอยู่ในขอบเขตจำกัดจริงๆ
วิชชาธรรมกาย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ที่จะเอาชนะกิเลสอาสวะได้
ที่จะทำให้สันติสุขและสันติภาพของโลกที่แท้จริงบังเกิดขึ้นได้
นอกเหนือจากวิชชาธรรมกายแล้วไม่มีวิธีการใดๆ เลย ที่จะทำให้สันติสุขสันติภาพโลกเกิดขึ้นได้
๑๐ กันยายน พ.ศ.
๒๕๔๖
คุณครูไม่ใหญ่
วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564