ปรับกาย
เมื่อเราสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุก ๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย
ๆ
หลับตาของเราเบา ๆ ค่อนลูก
พอสบาย ๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ หลับพอสบาย
ๆ
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพัน ยึดมั่นถือมั่นในคน สัตว์ สิ่งของ
ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องร่างกายของเรา หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจของเราให้ว่าง ๆ
แล้วก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเรา
ปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น ให้เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ กลวงภายใน ใส บริสุทธิ์ เป็นปล่อง
เป็นช่อง เป็นโพรง เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ กลวงภายใน คล้ายลูกโป่ง หรือท่อแก้ว ท่อเพชรใส
ๆ
วางใจ
คราวนี้เราก็รวมใจที่คิดแวบไปแวบมาในเรื่องราวต่าง
ๆ รวมกลับมาหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า
เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนั้นขึ้นมา
๒ นิ้วมือ เราเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ แล้วก็ที่ตื่น ที่สำคัญคือเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน
ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเริ่มหยุดใจอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
หยุดอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ใครรู้จักฐานที่
๗ เป็นผู้มีบุญบารมีมาก
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ นี้ เราต้องทำความรู้จักและให้ความสำคัญ เพราะตรงนี้เป็นที่สำคัญ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ที่เกิด ที่หลับ ที่ดับ ที่ตื่น ทางดับทุกข์ ทางบรรลุมรรคผลนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านเริ่มต้นอยู่ที่ตรงนี้
เริ่มต้นหยุดใจอยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น
ใครรู้จักว่า
ฐานที่ ๗ เป็นที่หยุดใจ ผู้นั้นได้ชื่อว่า เป็นผู้มีบุญบารมีมาก
ใครหยุดใจได้ ก็ได้ชื่อว่า สมหวังในชีวิต ประสบความสำเร็จในชีวิตในระดับหนึ่งทีเดียว
เพราะฉะนั้น ให้รวมใจมาหยุดนิ่ง
ๆ อยู่ที่ตรงนี้นะ แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ นั้น เราไม่ต้องไปกังวลกับศูนย์กลางกายฐานที่
๗ มากเกินไปว่า เราเอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ ตรงนี้ มันตรงเป๊ะเลยไหมกับฐานที่ ๗ เอาแค่ประมาณเอา
กะ ๆ เอาว่า อยู่แถว ๆ บริเวณของกลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือแถวนี้ ทำความรู้สึกว่า
ใจมาอยู่ที่ตรงนี้ แม้ความจริงมันอาจจะไม่ตรงเป๊ะเลยกับฐานที่ ๗ ก็ไม่เป็นไร เพราะเรายังเป็นผู้ฝึกอยู่
ยังเป็นนักเรียนอยู่
บริกรรมนิมิต
ตอนนี้ เราก็รวมใจมาหยุดนิ่ง
ๆ ที่กลางท้อง ทำความรู้สึกตรงนี้ว่า กลางท้องของเรานั้นมีดวงกลม ๆ ใส ๆ คล้ายเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิเลย โตเท่ากับแก้วตาของเรา หรือจะใหญ่เล็กกว่านี้ก็ได้ แล้วแต่ใจของเราชอบนะจ๊ะ
เรามากำหนดนึกสมมติสร้างมโนภาพขึ้นทางใจ
ซึ่งเรียกว่า บริกรรมนิมิต ให้ภาพนิมิตนี้
เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ใจจะได้ไม่ฟุ้งคิดไปในเรื่องอื่นที่ไม่มีสาระแก่นสาร ซึ่งเราก็คิดกันมาตั้งแต่เกิดเรื่อยมา
คือ ค่อย ๆ คิดเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วก็ทำให้ชีวิตนั้นมีแต่ความทุกข์ ไม่สบายกาย
ไม่สบายใจ เศร้า ซึม เซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้ม จนกระทั่งไปหาทางผ่อนคลายด้วยการหาสิ่งที่เพลิดเพลินกันไปวัน
ๆ ไปตามรสนิยม แล้วก็เข้าใจผิดว่า นั่นคือความสุข แต่ความจริงไม่ใช่ มันแค่ความเพลิน
ให้มันหมดเวลากันไปวันต่อวันของชีวิตเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เราเอาใจมาหยุดนิ่ง
ๆ ตรงนี้ นึกถึงดวงใส ๆ หรือเพชรสักเม็ดหนึ่งกลมรอบตัวขนาดไหนก็ได้ อยู่ตรงกลางท้องของเรา
ให้นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับนึกถึงสิ่งที่เราชอบ เรารัก เราคุ้นเคย ให้นึกธรรมดาอย่างนั้นนะ
การนึกนิมิต
สิ่งใดที่เราคุ้นมันก็นึกได้ง่าย
ได้ชัดเจน มากกว่าสิ่งที่ไม่คุ้น อย่างเรานึกถึงดวงแก้ว หรือเพชรสักเม็ดหนึ่ง เราคุ้นกับเพชร
น้ำแข็งใส ๆ แต่เราคุ้นกับการนึกที่สมองหรือนึกภายนอก ไม่คุ้นกับการนึกภายในกลางท้อง
เพราะฉะนั้นใหม่ ๆ มันก็นึกได้ยากสักนิดหนึ่ง
คำว่า ยาก ในที่นี้คือ จะให้ชัดเจนเหมือนสิ่งที่เราคุ้นเคย
มันคงยากในตอนแรก แต่ยากไม่มาก สิ่งที่เราจะต้องทำคือ นึกได้แค่ไหนก็นึกไปแค่นั้นก่อน
อย่างสบาย ๆ ไม่ชัดเจน ไม่เป็นไร ทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
หรือจะนึกเป็นภาพองค์พระก็ได้
นึกอย่างสบาย ๆ ให้ต่อเนื่องกันไป พระแก้วขาวใสบริสุทธิ์ ปางสมาธิ หรืออิริยาบถท่านนั่งสมาธิ
หันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา เหมือนเรามองด้านบนลงไป ด้านท็อปวิวอย่างนั้น ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร
อย่างใดอย่างหนึ่งนะจ๊ะ
นึกไป เพื่อให้ใจเราหยุดนิ่ง
ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจหยุดจะทำให้เราได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง และจิตก็จะถูกกลั่นให้บริสุทธิ์ในระดับที่เราเห็นความบริสุทธิ์ปรากฏขึ้นมาชัดเจน
เหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก เป็นดวงใส ๆ และหลังจากนั้นเราก็ดูไปเรื่อย ๆ
บริกรรมภาวนา
ระหว่างที่เรานึกถึงบริกรรมนิมิตนี้
แต่ใจอดไม่ได้ที่จะฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น เราก็จะต้องประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบา
ๆ โดยให้เสียงคำภาวนามันดังออกมาจากในกลางท้องจากกลางบริกรรมนิมิต กลางดวงแก้วหรือองค์พระดังกล่าว
เราภาวนาในใจเบา ๆ สบาย ว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ อย่าให้เร็ว อย่าให้ช้านัก เอาพอดี ๆ พอดีในระดับที่ใจสบาย
ทุกครั้งที่เราภาวนา
สัมมาอะระหัง จะต้องไม่ลืมนึกถึงภาพบริกรรมนิมิต ดวงใส ๆ หรือองค์พระใส ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ควบคู่กันไปให้ต่อเนื่อง สัมมาอะระหัง อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ กี่ครั้งก็ได้ จนกว่าจะเกิดความพึงพอใจสูงสุด
แล้วเราไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากหยุดใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ อย่างนี้อย่างเดียวเท่านั้น
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้
เราก็ไม่ต้องหวนคืนมากลับมาภาวนาใหม่ แต่ถ้าใจฟุ้งไปคิดเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ
สนุกสนาน เพลิดเพลินอะไรก็แล้วแต่ จึงย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ก็ทำกันไปอย่างนี้นะจ๊ะ
แต่ถ้าใครถนัดที่จะวางใจนิ่งเฉย
ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรเลย และใจไม่ฟุ้งด้วย ก็จะกำหนดใจหยุดใจนิ่งเฉย ๆ ทำความรู้สึกไว้ที่กลางท้องอย่างนี้อย่างเดียวก็ได้
หรือจะไม่นึกอะไรเลย แล้วภาวนา สัมมาอะระหัง อย่างเดียวก็ได้ วัตถุประสงค์ก็ต้องการให้ใจมาหยุดมานิ่งตรงนี้
อย่าสงสัย
ทีนี้ ถ้าใจหยุดนิ่งไปได้ระดับหนึ่ง
ภาพนิมิตมันเกิดขึ้นมาเป็นดวงใส ๆ องค์พระใส ๆ ก็ให้ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ อย่าเสียเวลาคิดว่า เอ๊ะ นี่เรานึกไปเองมั้ง เราถึงได้เห็น
มันจะนึกไปเอง หรือไม่ได้นึกและเห็นเอง มันก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น เราควรจะดูต่อไปเรื่อย
ๆ อย่าลืมว่าแต่ก่อนเรานึกเอง มันยังไม่เห็นเลย แต่พอเห็นเอง มันง่ายเสียจนเราสงสัย
พอภาพมันเกิดขึ้น
จะเกิดด้วยการนึกขึ้นมาเอง หรือเห็นขึ้นมาเองก็ตาม ให้ดูไปเฉย ๆ ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปสงสัยว่า
คิดเองหรือเห็นเอง ใช่ของจริงไหม หรือว่าไม่ใช่ มันยังไม่ถึงเวลาที่เราจะไปวิเคราะห์
วิจัย วิจารณ์ ประสบการณ์ นั่นเป็นเรื่องของระดับธรรมะขั้นสูงขั้นละเอียดไปแล้ว
แต่ตอนนี้เราเป็นนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
เราก็ต้องเรียนแบบนักเรียนอนุบาล เมื่อเราเห็นภาพภายใน เราก็ไม่ต้องไปสงสัย ไปแสวงหาคำตอบว่า
เราคิดขึ้นมาเอง หรือเห็นขึ้นมาเองจริง ๆ อย่าไปคิดนะลูกนะ เพราะฉะนั้น มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
อย่างนี้จึงจะถูกหลักวิชชา
หรือบางทีภาพไม่ปรากฏ
แต่ความสว่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ข้างหน้า ก็ไม่ต้องไปสงสัยว่า ใครเอาไฟมาส่องหน้า
หรือถ้ามันสว่างไปทั่วก็อย่าไปนึกว่า เอ๊ะ ใครเปิดไฟเอาไว้ ไม่ต้องไปนึกไม่ต้องไปคิดอะไร
หรือถ้าสว่างกลางกาย กลางท้อง ก็ไม่ต้องไปสงสัย เอ๊ะ มันสว่างได้อย่างไร แสงมาจากไหน
ความสงสัย
คือ การเอาใจมาคิดแล้ว แปลว่า ใจเริ่มเคลื่อนจากสมาธิ จากในระดับที่ดีมาเริ่มมาสู่ระดับที่กำลังจะแย่แล้ว
หยุดนิ่งอย่างเดียว
สิ่งที่เราจะต้องทำคือ
หยุดใจนิ่งอย่างเดียว อย่าไปฝืนในทุก ๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จะเป็นความโล่ง
โปร่ง เบาสบาย ตัวหายไป หรือตัวขยายจนหายไป หรือแสงสว่าง หรือเห็นดวงใส ๆ องค์พระใส
ๆ หรืออะไรที่นอกเหนือจากนี้ เราอย่าไปฝืนประสบการณ์
ตอนนั้น อย่าลืมตา
อย่าขยับตัว แล้วก็ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องกลัวเป็นบ้า คนบ้านั่งไม่ได้ แล้วเรารู้ตัวเราเองก่อนนั่งว่า
เราบ้าหรือเปล่า ไม่ต้องกลัวตาย คนเราจะตายมันต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องไข้ซะก่อน นี่ร่างกายเรามันยังแข็งแรง
ไม่ต้องกลัวหลุดไปเลย หรือจะกลับมาไม่ได้ มันยังไม่ถึงเวลา อย่างไรมันก็ต้องกลับมา
อย่าไปกลัวว่า จะเห็นภาพที่ไม่ดี ทำให้ตกใจ คือจะเป็นภาพที่สวยงาม หรือไม่สวยงาม จะเป็นสุภะหรืออสุภะ
เราดูไปเฉย ๆ มีหน้าที่เป็นผู้ดูที่ดี ดูเหมือนดูทิวทัศน์
สมมติว่า ภาพมันเกิดมา
จะเป็นภาพอะไรก็ตาม คือ เรากำหนดเบื้องต้นเป็นดวงแก้ว เป็นองค์พระ แต่เกิดไปเห็นเป็นภูเขา
เป็นต้นไม้ เป็นก้อนเมฆ เป็นทะเล เป็นอะไรก็แล้วแต่ อย่าไปคิดว่า เรานั่งไม่ถูกทาง
ไม่ถูกวิธี หรือนั่นไม่ใช่ นั่นคือช่วงที่ใจกำลังเดินทาง เป็นขั้นตอนของสมาธิ ให้เราดูภาพเหล่านั้นไปเรื่อย
ๆ เหมือนดูทิวทัศน์ เมื่อเรานั่งรถผ่านทิวทัศน์ต่าง ๆ เราก็ดูไป เรื่อย ๆ แล้วเดี๋ยวภาพเหล่านั้นมันก็จะเปลี่ยนไปสู่ภาพที่เราต้องการในที่สุด
นี่คือสิ่งที่ลูกทุกคนจะต้องจำคำที่แนะนำในทุก
ๆ ถ้อยคำ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกทุกคน จำแล้วก็เอาไปทำ เอาไปปฏิบัติ อย่าทำที่นอกเหนือจากนี้
มันจะทำให้เสียเวลาของการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ซึ่งน่าเสียดายว่า
เราให้โอกาสตัวเองมาหลับตาทำภาวนาแล้ว พอกำลังจะดีอย่างนี้ เราก็เลิกเสีย สงสัยขึ้นมา
ไม่เข้าใจอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น
ตอนนี้เรายังไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจอะไรที่มากไปกว่านี้
นอกจากเข้าใจตามที่หลวงพ่อได้แนะนำแค่นี้ อย่างนี้ไปก่อน เพราะเราเป็นนักเรียนอนุบาล
เราก็ต้องทำตัวทำใจของเราให้อินโนเซ้นท์เหมือนเด็กนักเรียนอนุบาล แล้วลูกทุกคนจะสมปรารถนา
จะมีความสุขที่ยิ่งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต และหาความสุขชนิดนี้จากที่อื่นไม่ได้เลย
ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ ลาภ ยศ สรรเสริญ อำนาจ วาสนา คนยกย่องชื่นชมอะไรต่างๆ
เหล่านั้น เป็นต้น มันไม่มีในสิ่งนั้น แต่มีอยู่ที่หยุดกับนิ่งของใจเรา ตรงกับพระบาลีที่ว่า
นตฺถิ
สนฺติปรํ สุขํ ความสุขที่แท้จริงมีอยู่ที่หยุดกับนิ่งเท่านั้น
หยุดใจเท่านั้นถึงจะเข้าถึงได้
ธรรมะเป็นของลึกซึ้งแต่เข้าถึงได้
ลูกทุกคนเป็นผู้มีบุญ
ที่ได้สั่งสมบุญมาอย่างดีแล้ว จึงมาได้ยินได้ฟังแล้วให้โอกาสตัวเองในการทำความเพียร
ในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง ซึ่งเป็นกรณียกิจ เป็นงานที่แท้จริงของการมาเกิดเป็นมนุษย์ในแต่ละชาติ
เพราะฉะนั้นลูกจะต้องมั่นใจว่า ลูกคือผู้มีบุญ มีบารมีที่สั่งสมมาอย่างดีแล้ว เหลืออย่างเดียวให้มีความเพียร
ให้ขยัน และทำให้ถูกหลักวิชชา
จำให้ได้ทุกคำที่ได้แนะนำ
ฟังดูเผิน ๆ เหมือนเป็นคำเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่น่าจะมีอะไรสำคัญ และยิ่งเราเคยได้ยินได้ฟังว่า
ธรรมะเป็นของลึกซึ้ง คงเข้าถึงยาก คงจะต้องแบกกลดเข้าป่า ปลีกวิเวก นั่นถูกส่วนหนึ่ง
แต่ไม่ทั้งหมด ความจริงแล้วธรรมะเป็นของลึกซึ้งแต่เข้าถึงได้
ถ้าเรานึกถึงในสมัยพุทธกาล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์แสดงธรรมอยู่ในธรรมสภา ในวัดเชตวัน และมีพุทธบริษัท ๔ เข้ามานั่งฟังธรรม
และปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระองค์ท่าน ได้บรรลุธรรมาภิสมัย คือ ได้เข้าถึงไตรสรณคมน์
ถึงพระรัตนตรัยในตัวก็เยอะ เป็นพระอริยบุคคลก็มาก ทั้งพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีก็มี
เป็นพระอรหันต์ก็มี
เพราะฉะนั้น
ธรรมะแม้เป็นของลึกซึ้ง แต่ก็สามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย
ๆ ถ้ารู้หลักวิชชาและมีความเพียร ประกอบกับต้องมีบุญเก่าที่สั่งสมมา
บุญเก่าของลูกทุกคนมีมากพอแล้วที่จะเข้าถึงได้ ถ้ามีบุญน้อยก็ไม่อาจที่จะมานั่งอยู่ตรงนี้
หรือนั่งปฏิบัติอยู่ที่หน้าจานดาวธรรมได้ เพราะว่ามันจะไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
แต่นี่เรามีบุญถึงในระดับที่จะเข้าถึงแล้ว ดังนั้นปัญหาเรื่องนี้ตัดทิ้งไปเลย ในข้อสงสัยว่า
เรามีบุญเพียงพอไหม เหลือแต่เพียงให้มีความเพียร ขยัน และทำถูกหลักวิชชา ต้องเข้าถึงอย่างแน่นอน
เช้านี้ อากาศกำลังสดชื่น
ไม่ร้อน ไม่เย็น ไม่อ้าวเกินไป เหมาะสมที่ลูกทุกคนจะเข้าถึงธรรม ให้ตั้งใจทำความเพียรตามหลักวิชชา
และก็ขอให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุก ๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ
นะจ๊ะ
เรื่อง : หยุดนิ่งอย่างเดียว
โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
ผู้ฟัง : สาธุชน
สถานที่ : สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี
ในโอกาส : งานบุญวันอาทิตย์ (ภาคเช้า)
เมื่อ : วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙
เวลา : ๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.
วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564