ปรับกาย-ปรับใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน หลับตาเบาๆ
พอสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้มีความรู้สึกว่า สบาย
ขยับเนื้อขยับตัว ปรับท่านั่งให้ถูกส่วนกันนะ จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย
แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์
ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ให้ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง
การวางใจ
แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเราในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
นึกถึงบุญ
ให้นึกถึงบุญทุกๆ บุญที่เราทำผ่านมา บุญเล็กบุญน้อยบุญปานกลาง
บุญใหญ่ บุญทุกชนิด ทั้งบุญทางสงเคราะห์โลก บุญทางธรรม ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา
ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างวัดวาอาราม บุญตักบาตร ถวายสังฆทาน คิลานเภสัช ยารักษาโรค
เป็นต้น
ทุกๆ บุญที่เราทำผ่านมาด้วยตัวเอง และชวนผู้อื่นเขามาร่วมทำบุญด้วย
เอาทุกๆ บุญเท่าที่เรานึกได้ รวมกันเป็นดวงบุญใสๆ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ของเรา เป็นดวงบุญใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
แต่ว่าใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย อย่างน้อยก็ให้ใสเหมือนกับน้ำใสๆ
หรือเหมือนกระจกใสๆ หรือเป็นก้อนน้ำแข็งใสๆ อย่างน้อยก็ต้องอย่างนี้
นึกให้เป็น
เรานึกเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ
อย่าตั้งใจเกินไป ไม่ต้องไปเน้น ไม่ต้องไปเค้นภาพ แค่นึกเบาๆ สบายๆ คล้ายๆ
กับเรานึกถึงดอกบัว ดอกกุหลาบ หรือดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์ ดวงดาวบนท้องฟ้า ต้องง่ายๆ อย่างนี้ ต้องง่ายๆ ต้องสบายๆ นึกนิ่งๆ นุ่มๆ
เบาๆ สบายๆ ให้ต่อเนื่องกันไปด้วยใจที่ใสเยือกเย็น
แล้วก็ประคองใจให้หยุดนิ่ง
แล้วบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ ตรึกนึกถึงดวงใสๆ
ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างผ่อนคลาย สบายๆ ใจเย็นๆ
ถ้าเราประคองใจไปอย่างนี้เรื่อยๆ
ใจก็จะไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่น เดี๋ยวก็จะรวมไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้ ดวงบุญนี้เท่าที่เรานึกได้ ก็จะไปดึงดูดบุญที่เราระลึกไม่ได้
ที่เราทำข้ามชาติมานับภพนับชาติไม่ถ้วนจนกระทั่งถึงปัจจุบันชาตินี้มารวมกัน
มาเพิ่มขึ้น บุญนี้ก็จะเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเรา
ตั้งแต่เราเป็นปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า
ตอนนี้ก็ประคองใจให้นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
ใจใสๆ ใจเย็นๆ ซึ่งใครคุ้นเคยกับการนึกถึงองค์พระ เราก็ไม่ต้องเปลี่ยนมาเป็นดวง
ก็นึกองค์พระเรื่อยไปอย่างสบายๆ แบบเดียวกัน
ถ้าทำถูกวิธี การเดินทางภายในจะเริ่มต้น
นิ่งอย่างเดียว อย่างนุ่มๆ
ไม่ใช่นิ่งแบบเน้นๆ นะ เดี๋ยวมันตึง มันเกร็ง มันเครียด อย่างนั้นผิดวิธี ต้องนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ แม้ยังไม่ชัดมากนัก
ยังไม่ชัดตามใจปรารถนาของเราก็ตาม ใจของเราก็จะค่อยๆ
ละเอียด นุ่มนวลเข้าไปเรื่อยๆ สมาธิก็จะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น แล้วก็สั่งสมมากเข้า
จนกระทั่งเราหยุดนิ่งได้อย่างแท้จริง ใจก็จะติดอยู่ตรงกลาง
แล้วก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน
เคลื่อนเข้าไปเอง เมื่อเรามีความสุขและความบริสุทธิ์ที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง
การเดินทางภายในในเส้นทางสายกลางก็จะเริ่มต้นขึ้นเอง
ถ้าไม่หยุด ไม่นิ่ง มันก็ดิ่งไม่ได้ ต้องใจหยุดนิ่งจนความสุข ความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้นนั่นแหละ
การเดินทางเข้าไปสู่ภายในก็จะเริ่มต้นขึ้น ก็จะเคลื่อนเข้าไปตามลำดับ
ทำง่ายมาก ก็ได้ง่ายมาก
ตลอดเส้นทางสายกลางภายใน ที่เป็นแนวดิ่งลงไป
จะเป็นเส้นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ตลอดเส้นทางนี้มีแต่ความสุขที่เพิ่มขึ้น ความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น
ความสว่างเพิ่มขึ้น การเห็นเกิดขึ้น ความเข้าใจ ความรอบรู้ก็แจ่มแจ้งขึ้นไปเรื่อยๆ
ไม่มีลดน้อยถอยลงเลย ถ้าเราปรุงใจให้ถูกส่วน ถูกหลักวิชชาดังกล่าว
เพราะเส้นทางสายกลางภายในนั้น
ต้องง่ายๆ ทำง่ายมาก ก็ได้ง่ายมาก ไม่มีความยากในเส้นทางสายกลางภายใน
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงพระอรหันต์ ตั้งแต่เบื้องต้นจนไปสู่ที่สุดแห่งธรรม
ต้องง่ายๆ ง่ายเพิ่มขึ้น แล้วก็ง่ายมากๆ จึงจะถูกหลักวิชชา
แต่ถ้าหากว่าเริ่มยากขึ้น มีอาการตึง เกร็ง หรือภาพประสบการณ์ภายในที่ชัดเจน อยู่ๆ
ก็หรี่ลงมา ค่อยๆ เลือนรางไป ก็แปลว่า เราทำไม่ถูกหลักวิชชา เพราะเราไปกำกับ ไปกดดัน
ไปเน้น ไปเค้นภาพ เริ่มนำความยากเอามาใช้ จึงไม่ถูกหลักวิชชา
ความยากนั้นมีเฉพาะโลกภายนอกที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน
คับแค้น ลำบาก ทุกข์ทรมาน แต่ภายในนั้นตรงกันข้ามกัน แต่เป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย เพราะเราขาดช่วงการทำต่อเนื่องกันมาข้ามชาติ แต่ถ้าหากว่า วันใด เวลาใด ที่เราทำถูกหลักวิชชา
ความรู้สึกคุ้นเคยก็จะเริ่มขึ้น การเดินทางภายในก็จะเริ่มต้น แล้วก็เดินทางต่อไปได้อีก
อย่างเบาๆ สบายๆ ผ่อนคลายใจเย็นๆ
โลกภายในนั้นกว้างขวางกว่าโลกภายนอกเยอะ
ล้วนแต่เป็นโลกแห่งความเป็นจริง จริงทั้งสิ้น แต่โลกภายนอกเป็นโลกแห่งความสมมติ เราจะไม่เจอของจริงในโลกภายนอกเลยแม้แต่นิดเดียว
เพราะฉะนั้นความจริงมีอยู่ในโลกภายในที่ต้องผ่านศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ของเรานี่แหละ
เพราะฉะนั้น ให้ลูกทุกคนนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ
สบายๆ ใจเย็นๆ ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ อย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ
กันนะ เมื่อกายเย็น ใจเราใสด้วยการหยุดนิ่งดีแล้ว
ใจเราถึงจะเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ที่จะเกิดจากการสร้างมหาทานบารมี
เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ประคองใจกันไปเรื่อยๆ สัมมาอะระหังๆๆ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะจ๊ะ
เรื่อง : ไม่มีความยากในเส้นทางสายกลาง
โดย : (หลวงพ่อธัมมชโย)
ผู้ฟัง : พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา สาธุชน
สถานที่ : สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี
ในโอกาส : งานบุญวันอาทิตย์
เมื่อ : วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓
เวลา : ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.
วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564