ให้ทานกับสัตว์เดรัจฉาน ได้อานิสงส์ ร้อยภพ
ให้ทานกับผู้ทุศีลได้อานิสงส์ พันภพ
ให้ทานกับผู้มีศีล ได้อานิสงส์ แสนภพ
ให้ทานกับดาบสผู้ได้อภิญญา ได้อานิสงส์ แสนโกฏิภพ
ให้ทานกับผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นพระโสดาบัน ได้อานิสงส์ อสงไขยภพ
ให้ทานกับพระโสดาบัน
ย่อมมีอานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
ให้ทานกับผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นพระสกทาคามี ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
ให้ทานกับพระสกทาคามี
ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
ให้ทานกับผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอนาคามี
ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก,
ให้ทานกับพระอนาคามี
ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
ให้ทานกับผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
ให้ทานกับพระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
ให้ทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า
ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก,
ให้ทานกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
การให้ทานแบบเฉพาะเจาะจงบุคคล
ดังกล่าวนี้ยังได้อานิสงส์น้อยกว่าการถวายเป็นสังฆทาน คือ
การถวายแด่หมู่สงฆ์ที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข
เราจะเห็นว่า
การเรียงกันตามลำดับขั้นบันไดของอานิสงส์ ตั้งแต่สัตว์เดียรัจฉานเรื่อยขึ้นมานี่
มีความจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์มาก
เมื่อโลกเป็นอยู่ได้ด้วยการให้
ให้อย่างไรจึงจะถูกหลักวิชชาต้องศึกษากันเอาไว้ ไม่อย่างนั้นทำไม่ถูก หากทำไม่ถูก มันก็น่าเสียดาย เพราะเมื่อเราหมดโอกาสมีกายมนุษย์แล้ว มันก็หมดสิทธิ์ในการสร้างบารมี เราจะมาใช้คำว่า รู้อย่างนี้
ทำอย่างนั้นก็ดี มันไม่เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้นต้องศึกษากันเอาไว้ให้ดีนะ
ใครที่บอกว่า
ช่วยคนยากคนจนอย่างเดียว ดีกว่าไปใส่บาตรพระ หรือไปเลี้ยงพระ อย่างนี้ไม่ถูกหลักวิชชา
ถูกหลักวิชชาคือ ต้องทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป
แต่ช่วยคนยากคนจนนี่
ไม่ได้แปลว่า ช่วยแล้วเขาพ้นจากความยากจนนะ ให้เขาได้อิ่มหนึ่ง
ให้วัตถุทานมันอยู่ไม่นาน มันสู้ให้ธรรมทานไม่ได้
หรือสนับสนุนผู้ที่กำลังจะทำพระนิพพานให้แจ้งไม่ได้ เขาวัดกันที่กำลังแห่งความบริสุทธิ์ของดวงจิต
และข้อวัตรปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์
เราจะไปดูแค่ความน่าสงสารอย่างเดียวไม่ได้
พระกับคนยากจนนี่
ดูเผิน ๆ คล้ายกันนะ แต่ถ้าดูลึก ๆ
ไม่เหมือนกัน คนยากจน เวลาอยากใช้ มันไม่มี อย่างนี้เขาเรียก อนาถา แต่ของพระ มีแต่ไม่ใช้ เขาเรียก สมถะ เพราะฉะนั้นแยกให้ถูกสมถะกับอนาถาไม่เหมือนกัน
ท่านมีแต่ไม่เอา บริจาคหมด และมีเฉพาะบริขาร เพื่อจะได้มีโอกาสว่างสำหรับการทำความเพียร
บำเพ็ญสมณธรรม ให้ใจหยุดนิ่ง ไม่มีเครื่องรกรุงรัง มีแต่ไม่ใช้ แต่คนยากจนจะใช้มันไม่มี มันต่างกันนะ
สภาพก็ต่างกัน คุณธรรมก็ต่างกันด้วย
ตรงนี้ต้องศึกษาให้ดี
หลวงพ่อธัมมชโย
๑๐
พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
วันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2566