ในตัวเรามีทั้งอัตตา และอนัตตา บวชเพื่อหาอัตตาในอนัตตา
วัตถุประสงค์การบวชเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อแสวงหาอัตตา แต่อัตตาอยู่ในอนัตตา ที่ทะเลาะกันอยู่
เพราะแปลไม่เหมือนกัน
อนัตตา พวกหนึ่ง แปลว่า ไม่มีตัวตน
อีกพวกหนึ่ง แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน
พวกแปลว่า ไม่มีตัวตน จึงโยงไปถึงพระนิพพานสูญ คือไม่มีอะไรเลย
ที่แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็ว่า
นิพพานยังมีอยู่ เป็นที่รองรับผู้บริสุทธิ์
เป็นอายตนะหนึ่งที่ไม่ใช่โลกนี้
ไม่ใช่โลกไหน ไม่มีการไป ไม่มีการมา
ไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน
ไม่มีการนอน
มีแต่นั่งอย่างเดียว
ไปอ่านดูเถอะในพระไตรปิฎก
ถ้า "อนัตตา" แปลว่า
ไม่ใช่ตัวตน
แล้ว อมนุษย์ เราจะแปลว่าอะไร
ไม่มีมนุษย์ หรือแปลว่า ไม่ใช่มนุษย์
สมมติเราไปเจอตัวอะไรคะยึกคะยือในห้องน้ำ
รูปร่างอย่างนั้น อมนุษย์ จะแปลว่า
ไม่มีมนุษย์ หรือจะแปลว่า ไม่ใช่มนุษย์ ก็ต้องแปลว่า
ไม่ใช่มนุษย์
เพราะฉะนั้น อวิชชา ก็แปลว่า
ไม่ใช่วิชชา ไม่ได้แปลว่า ไม่มีวิชชา
หรือ อรูปพรหม แปลว่า
ไม่ใช่รูปพรหม แปลว่า ไม่มีรูปพรหมก็ไม่ใช่ หรือพรหมไม่มีรูปก็ไม่ใช่อีก แต่แปลว่า
ไม่ใช่รูปพรหม จึงเรียกว่า อรูปพรหม เพราะหน้าตาคล้าย ๆ กัน ระหว่างรูปพรหมกับอรูปพรหม ไม่รู้จะเรียกอะไรก็เลยเรียกว่า ไม่ใช่รูปพรหม
ไม่ได้แปลว่า ไม่มีรูปพรหม
เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับแปลตรงนี้
ทีนี้ “อนัตตา” ที่แปลว่า
ไม่ใช่ตัวตน เพราะอะไร
เพราะถ้าเราเป็นตัวของเรา (อัตตา)
เราก็ต้องเป็นอิสระ บังคับบัญชาอะไรได้ เป็นตัวของตัวเอง
จะนึกอะไรมันก็สมปรารถนาทุกอย่าง แต่นี่มันไม่อย่างนั้น จะนึก จะคิด จะพูด
จะทำอะไร มันไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนา
จึงเรียกว่า ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ไม่ได้แปลว่า ไม่มีตัวตน
เหตุเพราะไม่เป็นอิสระ ไม่ใช่ตัวตนนี้แหละ
จึงเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ เพราะไม่ได้ดังใจ
เพราะมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เดี๋ยวเป็นนั่น เป็นนี่
เป็นโน่น อยู่ตลอดเวลา ยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม
ตอนช่วงไหนประมาทในชีวิต ไม่คิดทำบุญ ชีวิตก็ตกต่ำ
ตอนช่วงไหนไม่ประมาทหมั่นสั่งสมบุญชีวิตก็สูงส่ง ก็จะมีขึ้นมีลง มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย
ๆ จึงมีคำว่า อนิจจัง แปลว่า ไม่คงที่ มีขึ้นมีลง
เดี๋ยวเป็นโน่นเป็นนี่สารพัด
กายมนุษย์ ไม่ใช่ตัวตน
จึงเป็น อนัตตา ไม่ได้แปลว่า
กายมนุษย์ไม่มีตัวตน ก็นี่ไงมีแขน
มีขา มีหัว แต่มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จึงอย่าไปยึดมั่น อย่าไปผูกพันกับมัน ร่างกายเราเป็นแค่ทางผ่านให้ไปถึงตัวตนจริง ๆ
ที่เป็น อัตตา ที่เป็นตัวตนเพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นอิสระ
พ้นจากการถูกบังคับบัญชาจากกิเลสอาสวะ จากกฎแห่งกรรม มันพ้นแล้ว จึงเป็นแหล่งแห่งความสุข จึงมีคำว่า
นิจฺจํ สุขํ อตฺตา
เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่า
แปลว่าอะไร เพราะแปลไม่เหมือนกัน จึงทะเลาะกัน และที่แปลไม่เหมือนกัน เพราะประสบการณ์ภายในไม่เหมือนกัน และที่ประสบการณ์ภายในไม่เหมือนกัน
เพราะ
๑. ไม่ปฏิบัติ แต่เป็นนักคิด คิดโน่น
คิดนี่ไปเรื่อยเปื่อย
๒. ปฏิบัติ แต่ผลแห่งการปฏิบัติ ความหยาบความละเอียดของการปฏิบัติไม่เท่ากัน ก็เอาที่ไม่เท่ากันมาสรุปว่า มันคืออย่างนี้ ๆ ก็เลยเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน
ทีนี้ถ้าจะให้เท่ากัน มันต้องหมดกิเลสเหมือน
ๆ กัน ยกตัวอย่าง ตอนก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไม่กี่นาที พระองค์ถาม มีใครสงสัยอะไรบ้าง ตรงนั้นมีแต่พระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว ถึงจุดอันเดียวกันไปแล้วหมดสงสัยแล้ว
ไม่มีใครสงสัย
เพราะฉะนั้น อัตตา อนัตตา มันก็ตื้น ๆ เราอย่ามาทะเลาะกันเลย
ไปปฏิบัติกันเถิด แล้วทำประสบการณ์ให้เท่า
ๆ กัน นี่ของตื้น ๆ เราคิดตื้น ๆ ก็ชื่นใจแล้ว
เหมือนเดินในน้ำตื้น ๆ ยังชื่นใจ
ที่ว่า อัตตาอยู่ในอนัตตา
คือ พระธรรมกายนั่นแหละคือ อัตตา อยู่ในร่างกายที่เป็นอนัตตา
เราก็ทะลวงอนัตตาเข้าไปถึงอัตตา เดี๋ยวเราก็จะรู้ว่าอันไหนอัตตา อันไหนอนัตตา
จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน
คุณครูไม่ใหญ่
๒๓
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗