เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาหลวงพ่อธัมมชโย : เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
วันพระ
เป็นวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา
เดือนหนึ่งจะมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕
ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ
วันพระใหญ่ เดือนหนึ่งจะมี ๒ วัน คือ วันขึ้น
๑๕ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ
โดยเฉพาะวันพระใหญ่ ขึ้น ๑๕ จะมีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกันทั้งในมนุษยโลก เทวโลก
และยมโลก
ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาเรียนรู้ และมีความสำคัญมาก
วันพระในมนุษย์โลก
วันพระถือเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่พุทธบริษัท ๔
จะต้องมีกิจร่วมกัน
พระกับโยมต้องมาร่วมกันสั่งสมบุญ พระก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง โยมก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งต่างก็เกื้อกูลกัน
วันพระสำหรับโยม
ก็ต้องเตรียมตัวที่จะไปทำพระนิพพานให้แจ้ง
แสวงบุญ สร้างบารมีกันในระดับที่ญาติโยมพอจะเข้าใจและทำได้
หรืออย่างน้อยก็เป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นวันที่เราควรจะได้สั่งสมบุญกุศลให้ยิ่ง ๆ
ขึ้นไป และอุทิศส่วนกุศลให้กับหมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
ก่อนถึงวันพระ สาธุชนก็จะเตรียมเครื่องไทยธรรม
ซึ่งมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหารหวานคาว เป็นต้น สำหรับนำไปถวายพระในวันพระ แล้วก็ไปสมาทานอุโบสถศีล ไปฟังธรรม
ไปปฏิบัติธรรม
แล้วมีกิจกรรมอะไรที่เป็นทางมาแห่งบุญก็ต้องขวยขวายตักตวงบุญกันไป เช่น เห็นใบไม้ใบหญ้า เศษขยะมูลฝอยในวัด
ก็ช่วยกันเก็บกวาดไปใส่ถังขยะ หรือช่วยกันปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดเสนาสนะต่าง
ๆ เป็นต้น
หรือบ้านใดมีลูกมีหลานก็พาลูกหลานเข้าวัด
แต่ถ้าหากวันพระไหนตรงกับวันเรียน ก็ต้องพาบุตรหลานที่ยังไม่ได้เข้าเรียนไปวัด
เพื่อสร้างความคุ้นเคยกันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ
วันพระสำหรับพระ เป็นวันที่พระจะต้องมานึกทบทวนตนเองว่า
ที่เราบวชมาได้ทำถูกวัตถุประสงค์ของการบวชหรือไม่
ที่เราได้กล่าวคำขออุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์ในโบสถ์ ท่ามกลางคณะสงฆ์ ต่อหน้าพุทธปฏิมากร
ซึ่งเป็นตัวแทนของพระบรมศาสดาว่า
“การบวชของเราคราวนี้มีวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว
คือ จะสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ จะทำพระนิพพานให้แจ้ง”
นี่คือวัตถุประสงค์หลัก ถึงวันพระครั้งหนึ่ง
เราก็ต้องมาทบทวนกันแล้วก็ตรวจตราสิกขาบทของเราว่า มีครบถ้วนบริบูรณ์ไหม ถ้ายังไม่ครบ ก็ทำให้ครบถ้วน ถ้าครบถ้วนแล้วก็มาทบทวนของเก่าเพื่อจะได้มีความปลื้มปีติ
เบิกบานใจ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เมื่อเรามีความตั้งใจจะทำพระนิพพานให้แจ้ง
สิ่งที่เราจะต้องทำก็มีศีล สมาธิ ปัญญา
หรือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เทศนา แสวงหานิพพาน นี่เป็นกิจที่สำคัญของพระ
ข้อวัตรปฏิบัติก็จะเกื้อหนุนกันไปเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แม้เราไม่ได้เคร่งครัด มันก็จะเคร่งครัดไปเอง
เมื่อหมั่นตรวจตรากาย วาจา ใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์อย่างเดียว
สิ่งที่ดีงามก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ
แม้ว่าชาตินี้ยังไปไม่ได้
ก็จะเป็นบุญเป็นบารมีที่จะสนับสนุนให้ไปได้ในภพชาติถัด ๆ ไป
เมื่อพุทธบุตรหมั่นทบทวนตัวเองอย่างนี้
เราก็จะอยู่ในฐานะเป็นเนื้อนาบุญ เป็นอายุพระศาสนา
เป็นแหล่งกำเนิดแห่งบุญที่ญาติโยมเขาจะมาตักตวงบุญ การบริโภคขบฉันต่าง ๆ
ที่ญาติโยมถวายด้วยศรัทธานั้น
จะได้บริโภคด้วยความไม่เป็นหนี้
แต่อยู่ในฐานะเป็นนาย เป็นเนื้อนาบุญ อยู่ในฐานะอันสูงส่ง เฉพาะผู้มีบุญที่ได้มาครองผ้ากาสาวพัสตร์เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลาย
เราก็ต้องยกระดับของเราให้สูงขึ้นให้แตกต่างจากชีวิตของคฤหัสถ์
วันพระในเทวโลก
ก่อนวันพระใหญ่ ๑ วัน
จะเป็นวันประชุมฝ่ายบริหารของชั้นดาวดึงส์กับชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งได้แก่
ท้าวมหาราชทั้งสี่ หรือท้าวจตุโลกบาล
มีท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ ท้าวธตรฐ
และท้าวเวสสุวรรณ ที่ปกครองนาค ยักษ์ คนธรรพ์ ครุฑ ฝ่ายบริหารของสวรรค์ทั้งสองชั้นจะมาเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช
หรือพระอินทร์บนชั้นดาวดึงส์
เพื่อประชุมปรึกษาหารือกัน
วาระการประชุมก็แล้วแต่จะกำหนด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องบุญบาปเป็นหลัก
ในช่วงนี้ก็จะปรึกษาหารือกันในฝ่ายบริหารว่า มนุษย์ก็ดี
เทวดาก็ดี หรือ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ ครุฑก็ดี ผู้ประมาทในการดำเนินชีวิตก็มี ผู้ไม่ประมาทก็มี โดยเฉพาะมนุษย์ส่วนใหญ่ละเลยวันพระ ไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องวันพระ น่าเป็นห่วงว่าจะพลัดไปอบายกันเยอะ
จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์กันน้อยก็จะปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี มีวาระอะไรต่าง ๆ ก็ว่ากันไป
แล้วพระอินทร์ก็จะให้โอวาทปิดการประชุมว่า
ฝ่ายบริหารจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้
แล้วให้ดูแลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ดี
ท้าวจตุโลกบาลท่านก็จะลงมาประชุมกับเสนาบดีซึ่งปกครองกันคนละทิศ
ประชุมหารือกันเรียงตามลำดับ แล้วก็จะถ่ายทอดให้กวดขันในการทำสิ่งที่ดี
ไม่เบียดเบียนกันเอง
ไม่ไปเบียดเบียนมนุษย์
แล้วก็ให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ในวันพระใหญ่ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันเพ็ญ พระจันทร์าเต็มดวง) เป็นวาระที่ชาวสวรรค์มาประชุมกันในเทวสภา พระอินทร์จะให้โอวาท
ซึ่งจะเต็มไปด้วยชาวสวรรค์ที่ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
ส่วนชาวสวรรค์ที่ประมาทก็จะไปเที่ยวเตร่สนุกสนานเฮฮาตามสวน ตามสระ
บางพวกก็บริโภคกาม
บางพวกก็สนุกสนานเกี้ยวพาราสีเพลิดเพลินกันไป
ไม่มีการบังคับให้ชาวสวรรค์ทั้งหมดต้องมาเข้าประชุม
ก็เหมือนในเมืองมนุษย์ วันพระใครจะเข้าวัดก็ได้
ไม่เข้าก็ไม่เป็นไร
มันก็มีทั้งผู้ไม่ประมาทในชีวิตกับผู้ประมาท ผู้ที่ไม่ประมาทก็เข้าวัด สั่งสมบุญกุศล พวกประมาทก็มัวทำมาหากิน
มัวแต่สนุกสนานเพลิดเพลินกันอย่างเดียว
|
พระธาตุจุฬามณีที่สวรรค์ชั้นดางดึงส์ |
ในเทวสภา ท้าวสักกก็จะให้โอวาท เนื้อหาจะเน้นหนักไปในเรื่องให้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต แล้วก็แนะนำให้เจริญพุทธานุสติ ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ แล้วอย่าลืมไปสักการะพระธาตุจุฬามณีซึ่งเป็นแหล่งเนื้อนาบุญของชาวสวรรค์ แล้วก็อย่าไปเบียดเบียนกัน เขาจะคุยกันตั้งแต่ภาคเช้า จนกระทั่งถึงภาคค่ำในเมืองมนุษย์
พอถึงภาคค่ำในเมืองมนุษย์
ก็จะตรวจตรามองมายังโลกมนุษย์ในวันพระใหญ่ ซึ่งจะแตกต่างจากมนุษย์มองขึ้นไป มนุษย์มองขึ้นไปก็ดูพระจันทร์ขึ้นลง เต็มดวง
ไม่เต็มดวง แต่ถ้ามุมมองจากดาวดึงส์ก็จะมองอีกลักษณะหนึ่ง แต่เขาก็จะรู้ว่า เวลานี้เป็นเวลาเท่าไรในเมืองมนุษย์
ซึ่งมันแปบเดียว เมื่อเทียบเวลากับบนชั้นดาวดึงส์
ในภาคค่ำของเมืองมนุษย์
ผู้ที่มีหน้าที่ก็จะนำรายชื่อของผู้ที่สั่งสมบุญในโลกมนุษย์ทั้งหมด
ตั้งแต่สงเคราะห์โลกเป็นทีม หรือรายบุคคล
กระทั่งทำบุญทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในบุญเขตที่มีอยู่ทั่วโลก ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ช่วยคนยากคนจนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้
กระทั่งมาสมาทานอุโบสถศีล
หรือทำบุญอันยิ่งใหญ่
ชื่อของคนที่ทำความดีก็จะไปก้องอยู่ตรงนั้น เขาจะอ่านอย่างเร็ว ๆ ไปเรื่อย ๆ พอจบบัญชีก็
สาธุ เขาจะมาสรุปรายชื่อกันในวันพระใหญ่
รายชื่อจะอ่านตอนค่ำตั้งแต่พระจันทร์เริ่มขึ้นในเมืองมนุษย์เรื่อยไปถึงพระจันทร์ตกราตรี ก็จะมีเรื่องราวของผู้ที่บำเพ็ญบุญทุกชาติ
ทุกศาสนา ส่วนใหญ่จะเรื่องในบุญเขต
ผู้ทำบุญในบุญเขตจะถูกกล่าวขานมาก ชาวสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกากับชั้นดาวดึงส์จะมีคละกัน
หลากหลาย แต่ดาวดึงส์จะมีพุทธศาสนิกชนมากกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา
และตั้งแต่ชั้นยามาขึ้นไปส่วนใหญ่จะเป็นเทวดาที่ทำบุญในบุญเขตพุทธศาสนาเป็นหลัก
วันพระในยมโลก
เจ้าหน้าที่หยุดทัณฑ์ทรมาน
นรกมีทั้งหมด ๔๕๖ ขุม แบ่งเป็น มหานรก ๘ ขุม
อุสทนรกหรือขุมบริวาร ๑๒๘ ขุม และยมโลก
๓๒๐ ขุม
ยมโลกถือเป็นนรกในขั้นลหุโทษ
จะอยู่รอบนอกมีทั้งหมด ๓๒๐ ขุม
วันพระใหญ่ในยมโลกจะหยุดทัณฑ์ทรมาน เจ้าหน้าที่จะวางศาสตราวุธ ไม่มีการฉึกฉักชั้วชะ ตัดคอ ตัดมือ ตัดแขน ตัดขา หรืออะไรต่าง ๆ
สัตว์นรกก็จะนอนพักร้องโอดโอย เจ้าหน้าที่บางคนก็คอยปลอบประโลมว่า “เอ้อ
เจ้ายังมีกรรมอยู่นะ ก็ต้องอดทนรับใช้กรรมไปก่อน
เดี๋ยวญาติของเจ้าที่อยู่ในเมืองมนุษย์
ถ้าเขาได้ทำบุญ เขาก็จะอุทิศส่วนกุศลมาให้เจ้า หนักก็จะได้เป็นเบา
เบาก็จะได้หายไป”
เจ้าหน้าที่ในยมโลก
เจ้าหน้าที่ในยมโลก ส่วนใหญ่เป็นพวกกุมภัณฑ์
และอีกพวกที่มาจากนาค ยักษ์ คนธรรพ์ ครุฑ ที่มีวิบากกรรมต้องมาช่วยราชการ
ไปทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ในยมโลก เมื่อปฏิบัติหน้าที่ก็มีเหนื่อย มีเมื่อย
มีร้อน แต่จะร้อนไม่เท่าสัตว์นรก เพราะวิบากกรรมไม่เท่า
เจ้าหน้าที่ก็มีเหมือนมนุษย์นี่แหละ
บางพวกก็ไม่อยากลง บางพวกก็ชอบ
ก็เหมือนผู้คุมบางคนในเมืองมนุษย์ก็อยากเป็นผู้คุม ลุยสะบั้นหั่นแหลก แต่บางคนก็เป็นผู้คุมใจพระ ก็มีคละ ๆ กันไปทั้ง
๓๒๐ ขุม แล้วก็จะมีการเปลี่ยนผลัดเปลี่ยนชุดกันตอนนี้
ส่วนผู้พิพากษาที่นั่งบนบัลลังก์
พอถึงวันพระใหญ่ท่านก็จะนั่งเฉย ๆ
หยุดพิพากษา ซึ่ง ๒๔ ชั่วโมงในเมืองมนุษย์ มันแวบเดียวของตรงนี้
แต่ไม่ได้แปลว่า ท่านจะลุกไปเข้าห้องน้ำห้องท่า หรือมีช่วงเบรค ไม่มีนะ ยกเว้นหมดกะถึงจะออกไป เขาจะมีอาหารทิพย์ แต่ไม่ใช่บริโภคอาหารทิพย์เสร็จแล้วก็จะไปเข้าห้องน้ำนะ
ไม่มี ไม่เหมือนมนุษย์จะต่างกัน หน้าที่ก็ต้องทำ ในยมโลกเขาก็จะเป็นกันอย่างนี้
และที่สำคัญคือ
ในวันพระที่ยมโลกเขาหยุดทัณฑ์ทรมาน
บุญที่หมู่ญาติทำอุทิศส่วนกุศลไปให้จะได้ช่องตอนนี้ ทีนี้ถ้าหากว่า
เป็นชาวพุทธที่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องทำบุญอุทิศส่วนกุศล
ผู้ที่อยู่ในโลกมนุษย์ที่เป็นบุตรหลาน ญาติมิตร
ก็จะอาศัยวันพระทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ช่วงนี้ เพราะวันอื่นสัตว์นรกไม่ว่างเว้นจากทัณฑ์ทรมาน
ยังรับบุญไม่ได้ พอวันพระใหญ่บุญก็จะแวบไป ถ้าสัตว์นรกหมดกรรมก็วูบหลุดมาเลย จะไปอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่เจ้าหน้าที่จะพาไป
หรืออาศัยบุญของญาติในปัจจุบันที่ทำไปให้พ้นจากตรงนั้น
แล้วบวกบุญเก่าของตัวที่เคยทำเอาไว้ได้ช่อง
ก็จะไปเกิดเป็นอะไรต่ออะไรตามกำลังบุญ
เพราะฉะนั้น พอถึงวันพระ
เราทำบุญอุทิศเจาะจงไปเลย จะอุทิศให้หมู่ญาติของเราคนไหนก็แล้วแต่
ซึ่งอาจจะไปอยู่ในยมโลกก็จะมีส่วนได้รับ แต่ถ้าหากไปมหานรกหรืออุสทนรก
ยังรับบุญไม่ได้
บุญนี้ก็ยังมาคอยอยู่ที่ยมโลก
เมื่อพ้นจากมหานรกไปอุสทนรกแล้วมายมโลกจึงมาได้รับบุญตรงนี้
ดังนั้น
วันพระใหญ่ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) จึงเป็นวันพิเศษที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันทั้งในมนุษย์โลก เทวโลก
และยมโลก นอกจากนี้พระนิพพานยังส่งผังสำเร็จมาสำหรับผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมในวันนี้ จะเข้าถึงธรรมได้อย่างง่าย ๆ คล้าย ๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทุก ๆ พระองค์ทรงบรรลุธรรมในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ
เหมือนกันหมดเลย เพราะฉะนั้นในวันพระจึงเป็นวันที่เราจะต้องมาสั่งสมบุญ
สั่งสมบารมีและอุทิศส่วนกุศลให้แก่หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
และใครที่มีความเพียรตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมะวันนี้จะดีเป็นพิเศษ นี่ก็เป็นเรื่องราวย่อ ๆ
สำหรับวันพระที่ควรได้ศึกษาเอาไว้
เรียบเรียงจากธรรมะในโรงเรียนฝันในฝันวิทยา
วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563