พระภิกษุ
: ถ้าฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ
จะเข้าถึงพระธรรมกายได้ไหมครับ
คุณครูไม่ใหญ่
:
วิธีฝึกสมาธิที่มีบันทึกไว้ ๔๐
วิธีในวิสุทธิมรรค เป็นวิธีที่จะทำให้เข้าถึงพระธรรมกายทั้งหมดเลย วิธีสัมมาอะระหัง เป็นอาโลกกสิณ
หรือกสิณแสงสว่าง แล้วประกอบคำภาวนา เอามาตั้งไว้ตรงฐานที่ ๗ นี่ก็เป็น ๑ ใน ๔๐
วิธีเหมือนกัน
ฝึกแบบอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ
ก็เป็น ๑ ใน ๔๐ วิธี ที่จะทำให้เข้าถึงวิชชาธรรมกายได้ โดยกำหนดลมหายใจเข้าออก เริ่มตั้งแต่ปากช่องจมูก
แล้วไปสุดตรงที่ปลายลม หรือที่สุดของลมหายใจ จะอยู่ตรงฐานที่ ๗ เลย
วิธีปฏิบัติ คือ
หายใจอย่างสบาย ๆ ปรับลมให้เบา ยาว สม่ำเสมอ ลองนับในใจให้ได้ ๑ - ๑๖ ครั้ง อย่างสบาย ๆ นะ ไม่ใช่ตั้งใจหายใจนะ
ปรับไปเรื่อย ๆ แต่ใจจะต้องอยู่ที่ฐานที่ ๗ การหายใจก็ให้เป็นปกติ ไม่ต้องเอาจิตใจเข้าออกตามลมหายใจ
อย่างนี้เป็นวิธีปฏิบัติแบบอานาปานัสสติ เพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย
อานาปานสติ แปลว่า
การจับลมหายใจเข้าออก ให้อยู่กับที่ โดยเรารู้ตัวตลอดเวลา เบา ยาว สบาย สม่ำเสมอให้อยู่กับที่ตรงฐานที่
๗ ทีนี้พอเราจับลมอยู่ได้แล้ว เราจะมีความรู้สึกเหมือนเราไม่หายใจ พอเหมือนไม่หายใจก็กลัวตาย
ก็เลยรีบหายใจ ไปควานหาลมหายใจ ดังนั้นก็เลยอึดอัด เอ๊ จะเข้าหรือจะออกดี
เพราะฉะนั้น พอถึงตรงที่เหมือนไม่ได้หายใจ
แสดงว่า ลมมันหยุดอยู่กับที่แล้ว ไม่ช้าใจที่คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ก็จะหยุดพร้อมกับลมที่หยุด
ผลที่เกิดขึ้นคือ ดวงปฐมมรรคจะเกิดขึ้นตรงฐานที่ ๗ นี่คือวิธีปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย
โดยอาศัยลมหายใจเข้า
พระภิกษุ : แต่บางครั้งพระอาจารย์ท่านแนะนำ ให้เอาไว้ที่ปากช่องจมูก ไม่ต้องเอาไว้ที่ฐานที่
๗
คุณครูไม่ใหญ่
:
เพราะว่าบางท่านนั้นไม่ทราบว่า
ในกายเรามีพระธรรมกาย ไม่ทราบว่าพระธรรมกายตั้งอยู่ที่ตรงไหน เมื่อไม่ทราบอย่างนี้
ก็เอาจุดที่ลมกระทบ ที่สังเกตง่ายที่สุด
ทีนี้เมื่อเขาเอาใจมาอยู่ที่ต้นลม
สังเกตการเข้าการออก ก็เหมือนคนยืนเฝ้าประตู ดูคนเข้าคนออก จนกระทั่งลมมันหยุด คือ จับได้
แต่ไม่ได้จับที่ตรง ฐานที่ ๗ แต่มาจับอยู่ได้ตรงฐานที่ ๑ ผลที่เกิดขึ้นคือ ดวงสว่างก็จะเกิดขึ้นตรงนี้
หรือไม่ก็เกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งถ้าได้อย่างนี้แล้ว จะต้องหาวิธีนำดวงใส ๆ เข้าไปข้างในตรงฐานที่
๗ ให้ได้ ไม่ช้าก็จะพบพระธรรมกาย แต่ถ้าไม่นำกลับเข้าไปตั้งไว้ตรงฐานที่ ๗ ก็จะไม่พบพระธรรมกาย
ทบทวนอีกครั้งนะ
อานาปานัสสติ แปลว่า การจับลมหายใจที่เข้าออกอย่าง ยาว เบา สบาย สม่ำเสมอ ให้อยู่ที่ฐานที่
๗ ลักษณะอาการเมื่อจับอยู่แล้ว คือ ลมจะไม่เข้าไม่ออก คือ อยู่นิ่ง ๆ อาการคล้าย ๆ
เหมือนกับเราไม่ได้หายใจ แล้วมักจะกลัวกัน แต่ที่จริงตอนนั้น ถ้าหากอยู่เฉย ๆ ใจก็จะหยุดนิ่งประเดี๋ยวเดียว
๑ นาที เท่านั้นเอง ดวงธรรมก็เกิดขึ้นมา
ทีนี้ บางพระอาจารย์ให้กำหนดที่ปากช่องจมูก
ตรงฐานที่ ๑ กำหนดที่ตรงนี้ก็เหมือนคนยืนเฝ้าประตู ดูคนเข้าและออก พอใจสบาย ๆ
ถูกส่วน พอจับลมได้หยุดนิ่งตรงนี้ ดวงธรรมก็จะเกิดขึ้นตรงนี้ ถ้านำดวงธรรมที่เกิดตรงนี้ น้อมเข้าไปตรงฐานที่
๗ เดี๋ยวก็จะพบพระธรรมกาย แต่ถ้าไม่น้อมเอาไว้ อยู่ข้างหน้าเฉย ๆ ก็จะไม่พบพระธรรมกาย
แต่จิตใจจะมั่นคง นุ่มนวล และควรแก่การงาน ที่จะนำไปนึกคิดอะไรก็ได้ พิจารณาอะไรก็ได้
แต่จะไม่พบพระธรรมกาย ได้อารมณ์สบาย มีความสุข แล้วดวงจะอยู่ข้างหน้า
คุณครูไม่ใหญ่
วันจันทร์ที่
๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
ผู้ฟัง : พระภิกษุ สามเณร
สถานที่ : ปฏิบัติธรรม จ.เชียงใหม่
วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563