ทบทวนตัวเอง เรามาบวชเพื่ออะไร
เราได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาด้วยความตั้งใจมั่นพร้อมเพรียงกันทุกองค์เรียบร้อยแล้ว เมื่อเราได้ตั้งจิตอธิษฐานอยู่จำพรรษาแล้ว เราก็จะต้องทำพรรษานี้ให้เป็นพรรษาแห่งความสมปรารถนาของเราให้ได้
ลูกทุกรูป ต้องย้อนกลับไปทบทวนในวันแรกที่เราได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา
วันนั้น เรามีความตั้งใจอะไร ถึงได้สละทิ้งทุกอย่าง เครื่องกังวลทั้งปวง ตั้งแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลินทางโลก การทำมาหากิน ครอบครัว และหมู่ญาติของเรา
เราสละทุกสิ่งทุกอย่างมาบวช โดยมองเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกของเรา ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ พ้นจากความทุกข์ทรมาน ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เรารู้แจ้งเห็นแจ้งในชีวิต
เพราะฉะนั้นเราจึงได้ตัดสินใจบวช
วันนั้น ในพระอุโบสถ ในท่ามกลางผู้มีบุญทั้งหลาย ท่ามกลางคณะสงฆ์ เฉพาะพระพักตร์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราตั้งใจว่า “บวชคราวนี้ เราต้องการแสวงหาหนทางพระนิพพาน หรือทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน” นั่นคือสิ่งที่เราได้ตั้งใจในวันนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะทำความปรารถนาของเราให้สมหวัง
ในที่นี้หลายๆ รูป บวชมาหลายพรรษาแล้ว ก็จะต้องมาทบทวนว่า ความปรารถนาของเราสมหวังแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็จะต้องตั้งใจทำความเพียรของเราต่อไปตามพุทธวิธี เดินตามศีล สมาธิ ปัญญากันเรื่อยไป
สำหรับผู้บวชใหม่ ยังไม่มีภารกิจเครื่องกังวลในการคณะสงฆ์ ไม่มีเครื่องกังวลเรื่องการบริหารหมู่คณะ หรือภารกิจที่หมู่คณะมอบหมายให้ เป็นผู้ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการแสวงหาหนทางพระนิพพาน
สำหรับผู้ที่มีภารกิจมาก ก็ต้องบริหารเวลาให้เป็น จัดสรรเวลาให้ลงตัว ให้มีเวลาว่างสำหรับแสวงหาหนทางพระนิพพานของตนเองให้ได้ อย่างน้อยวันละสองชั่วโมงก็ยังดี
ส่วนเวลาอื่นที่เรามีภารกิจประจำวัน ก็พยายามฝึกฝนทำควบคู่กับภารกิจนั้นไป เพราะภารกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน ใครทำสองอย่างนี้ไปพร้อมๆ กันได้ ถึงจะเรียกว่า บริหารเวลาเป็น มีความรักพระนิพพาน รักเพศนักบวชอย่างแท้จริง มีความตั้งใจที่จะทำความปรารถนาของเราให้สมหวัง ได้ชื่อว่า เป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา อีกทั้งจะเป็นเนื้อนาบุญแก่มนุษย์และเทวาด้วย
เพราะฉะนั้น ภารกิจกับจิตใจควรไปด้วยกัน ไม่ควรเป็นสิ่งที่แย้งกัน
หรือเป็นข้ออ้างว่า เราติดภารกิจจะต้องบริหารกิจการงานสงฆ์ จะต้องเรียนหนังสือ หรือจะต้องทำภารกิจที่หมู่คณะมอบหมายให้จึงทำให้ไม่มีเวลา
บางคนอ้างว่า
สุขภาพไม่แข็งแรง
ยังป่วยไข้อยู่ คอยให้หายป่วยก่อนแล้วค่อยแสวงหาหนทางพระนิพพาน คิดอย่างนี้ไม่ถูกนะลูกนะ เพราะเรามีเวลาของชีวิตที่จำกัด
ถ้าคิดให้ละเอียด เวลาเรามีแค่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เวลาในชีวิตเรามีแค่นี้ หายใจเข้าแล้วไม่ออก เราก็ตาย หายใจออกแล้วไม่เข้าก็ตายอีก หรือหายใจทั้งไม่ออกไม่เข้าก็ตาย ความตายรอคอยเราอยู่ทุกอนุวินาที
เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่จำกัดจริงๆ เป็นสิ่งที่ลูกทุกรูปควรจะนึกคิดอย่างนี้บ่อยๆ
หลวงพ่อแม้ภารกิจมาก
แต่ก็เจียดเวลาในการปฏิบัติธรรม ไม่ขาดเลยแม้แต่เพียงวันเดียวและทำเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ ก็มาพิจารณาดูว่า ทำไมเราทำได้ ที่ทำได้ก็เพราะ มีความตั้งใจอยากจะพ้นทุกข์ อยากจะเข้าถึงความสุขที่แท้จริง อยากรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไปรู้ไปเห็นอย่างไร
เราก็อยากจะไปรู้ไปเห็นอย่างนั้นบ้าง
อยากรู้เรื่องราวความเป็นมาของตัวเองว่า ก่อนหน้านี้มีความเป็นมาอย่างไร ปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไรอีก มันมีความกระหายอยากรู้อยากเห็นอย่างนี้
เพราะสอนตัวเองอย่างนี้ จึงทำให้เกิดความขวนขวาย กระตือรือร้น กระหายที่จะปฏิบัติธรรม
ศึกษาวิชชาธรรมกาย โดยไม่มีข้ออ้าง ข้อแม้ เงื่อนไข
หลวงพ่อก็มีภารกิจเช่นเดียวกับลูกทุกรูป แต่อาจจะมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่า
หลวงพ่อทำอะไรบ้าง เพราะเป็นนามธรรม
สิ่งที่ลูกมองไม่เห็น ในฐานะตำแหน่งพระสมภารนั้น ต้องรับภาระตลอด ๒๔ ชั่วโมง ภาระหนักไปในทางความคิด ซึ่งไม่เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นบางทีเห็นนั่งอยู่เฉยๆ เดินไปเดินมา อาจจะคิดว่า หลวงพ่อไม่ได้ทำอะไร จริงๆ ทำงานตลอดเวลา แม้ขณะฉันก็ดี เข้าห้องน้ำห้องท่า ทำงานตลอด
มีความคิดแต่เพียงว่า “จะเอาอย่างไร” มีประโยคนี้คิดอยู่ทุกวัน
“จะทำอย่างไรให้งานพระศาสนาเดินได้” เพราะขณะนี้พระศาสนาถูกย่ำยีมากมาย
“ทำอย่างไรเราถึงจะปกป้องพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้”
“จะทำอย่างไรพระพุทธศาสนาจะขยายไปสู่ชาวโลก”
ให้ชาวโลกทุกคนมีโอกาสศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของชีวิตของตัวเองว่า เราเกิดมาทำไม
อะไรคือเป้าหมายของชีวิต คำตอบทั้งหมดมีอยู่ในพระพุทธศาสนา ในคำสอนที่มีมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น
จึงจะตอบข้อสงสัยนี้ให้หมดไปได้ คิดขยายพระพุทธศาสนาไปทั่วโลก
ไม่อยากให้มนุษย์ทุกคนเกิดมาตายฟรี เป็นโฆฆะบุรุษ ที่ไม่มีแก่นสารในชีวิต รู้สึกเสียดายแทนเขา
นี่คือความคิดที่มีตลอด ทั้งคิดปกป้อง ทั้งคิดจะขยายไปด้วย แล้วก็มองต่อไปว่า ใครจะเป็นปราการที่สำคัญของพระศาสนา ที่จะขยายธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปให้ได้ทั่วโลก
ก็มองเห็นแต่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มีทั้งช้างเท้าหน้า ทั้งช้างเท้าหลังสนับสนุนกันไป พระเณรเป็นช้างเท้าหน้า อุบาสกอุบาสิกาเป็นช้างเท้าหลัง ต่างเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกันให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จไปได้
นั่นก็หมายความว่า หลวงพ่อก็จะต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้พระ
เณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นพระแท้ เณรแท้ อุบาสกแท้ อุบาสิกาแท้ เป็นพุทธบริษัท ๔ ที่โลกต้องการ เพราะโลกขาดแคลน อยากได้ที่พึ่ง อยากได้คำแนะนำที่ดี อยากได้ตัวอย่างดีๆ ให้ดู เขาจะได้ทำได้ถูกต้อง
วันหนึ่งคืนหนึ่งก็คิดวนเวียนอยู่อย่างนี้ ใฝ่ฝันอยากจะเห็นพระภิกษุสามเณรเป็นพระภิกษุสามเณร
๓ ป. อุบาสกอุบาสิกา
๓ ป.
๓ ป. คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ปริยัติ คือ การศึกษาทฤษฏีในพระคัมภีร์ ในพระไตรปิฎก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไรไว้บ้าง อยากให้ศึกษากันให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ให้หายสงสัย จนกระทั่งนำมาสู่การปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็ให้มีประสบการณ์ภายในจนกระทั่งหายสงสัย มีความแจ่มแจ้งในประสบการณ์นั้น
หาก ๓ ป. นี้
มีอยู่ในตัวของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาเมื่อไร โลกก็จะสมหวัง ปราการของพระพุทธศาสนาตั้งขึ้นแล้ว หนทางที่พระพุทธศาสนาจะขยายไปสู่ชาวโลกเปิดแล้ว ความสมหวังของชาวโลกอยู่ในกำมือของชาวโลกแล้ว
วันหนึ่งคืนหนึ่งหลวงพ่อก็คิดวนเวียนอยู่อย่างนี้
แม้จะมีภารกิจขนาดนี้ก็ตาม ก็ยังเจียดเวลาเอาไว้สำหรับการปฏิบัติธรรม ทำสม่ำเสมอเรื่อยมา ภาวะขณะนี้หลวงพ่อว่า ลูกทุกรูป ควรจะให้ความเอาใจใส่กับ
๓ ป. ให้มาก ลูกทุกคนไม่ควรประมาท ควรจะขวนขวายทำสิ่งนี้ให้มีอยู่ในตัวของเราให้ได้
ทำพระนิพพานให้แจ้ง
การทำพระนิพพานให้แจ้งนั้น
หมายถึงว่า พระนิพพานนั้นมีอยู่แล้ว มีอยู่มาดั้งเดิม ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้หรือไม่ก็ตาม ก็มีอยู่แล้วดั้งเดิม เป็นอายตนะที่พ้นจากภพ
๓ ขึ้นไป ๓ ชั่วภพ วัดขนาดจากขอบภพด้านล่างถึงขอบภพด้านบนไป
๓ เท่า ถึงจะถึงขอบภพด้านล่างของอายตนนิพพาน อายตนะนั้นมีอยู่แล้วและเป็นที่สิงสถิตของพระธรรมกายพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ตั้งแต่พระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายมากมาย
จนกระทั่งอุปมาว่า มากกว่าเมล็ดทรายในท้องมหาสมุทรทั้ง
๔ เมล็ดทรายแค่กำมือเดียว เรายังนับได้ยากว่ามีกี่เม็ด แล้วมหาสมุทรทั้ง ๔ ที่มีทรายจำนวนมากๆ นั้น มันนับกันไม่ไหว เราจะหมดอายุเสียก่อนกว่าจะนับได้ครบว่ามันมีกี่เม็ด ถึงกระนั้นอาจจะมีผู้มีรู้ มีญาณ มีบารมีแก่ๆ สามารถคำนวณเม็ดทรายว่า มีกี่เม็ด แต่ก็ยังไม่อาจจะคำนวณได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายมีปริมาณเท่าไรในอายตนนิพพาน
แม้พุทธญาณซึ่งขอบเขตไม่มีประมาณ เอามาต่อๆ กันนับพระองค์ไม่ถ้วนก็ยังคำนวณไม่หมดว่า
มีพระพุทธเจ้า, พระอรหันต์ที่อยู่ในอายตนนิพพานจำนวนเท่าไร
เพราะฉะนั้น อายตนนิพพานนั้นมีอยู่ เป็นที่สิงสถิตอยู่ของผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย บริสุทธิ์จากสรรพกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง สังโยชน์เบื้องต่ำ
เบื้องสูง ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้ท่านเหล่านั้นอยู่ในกรอบวิชชามารได้ อยู่ในภพทั้ง ๓ ได้ มันหลุดออกไปเลย ด้วยอานุภาพแห่งบุญบารมีที่ได้สั่งสมไว้
เมื่อความบริสุทธิ์มีมากเข้าถึงระดับที่มีพลัง มีอานุภาพ ก็จะขจัดกิเลสอาสวะแบบสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ คือ เศษของกิเลสอาสวะไม่มีเหลือเลยแม้แต่นิดเดียว มันแวบหมด กรรมเวรต่างๆ ไม่มีเหลือ
กิเลสอาสวะ วิบากของกรรมก็ไม่มีเหลือ กิเลส กรรม วิบาก ไม่มีเหลือเลย สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ
การเผาผลาญวัตถุสิ่งของยังเหลือขี้เถ้าเอาไว้ ยังมีร่องรอยเอาไว้ให้เรารู้ว่า มีสิ่งที่หลงเหลือจากการเผาผลาญอยู่ แต่กิเลสที่ถูกประหาณเป็นสมุจเฉทปหานนั้น
สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเลย ด้วยอรหัตมรรค สว่างไสว แวบเดียวหมดเลย พอหมดกิเลสก็เป็นอรหัตผล เป็นธรรมกายอรหัตหน้าตัก
๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใส บริสุทธิ์
หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เข้าสู่สอุปาทิเสสภายใน คือ นิพพานประจำธรรมกาย เข้านิพพาน ในขณะที่ยังครองขันธ์
๕ อยู่
เมื่อขันธ์ ๕ หมดอายุ ก็ถอดกายเข้าสู่ อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ได้กล่าวถึงนี้ คือ อนุปาทิเสสนิพพาน ที่ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว อนุปาทิเสสนิพพานที่อยู่สูงกว่าภพทั้ง ๓ ไป ๓ ชั่วภพนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น นิพพานนี้มีอยู่นะลูกนะ เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้แจ้ง คือ ทำความสว่างให้ขจัดความมืดในดวงใจให้หมด
จนเกิดธรรมจักขุ เกิดญาณทัสสนะ คือ เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เห็นว่าพระนิพพานเป็นอย่างนี้ แล้วเกิดการขจัดกิเลส เกิดญาณทัสสนะ รู้ว่าพ้นแล้ว วิมุตติญาณทัสสนะเกิดแล้ว คือ เกิดความเห็นว่า พ้นแล้วจากการบังคับบัญชาของพญามาร กรอบวิชา (ถอดเทป เสียงท่านว่า
กรอบวิชา หรือ กรอบวิชชา ?) ที่เขาบังคับมานับภพนับชาติไม่ถ้วน หลุดไปแล้ว ดูดเข้ามาไม่ได้ ดึงไม่ได้ การทำพระนิพพานให้แจ้งก็หมายเอาอย่างนี้นะลูกนะ
ส่วนวิธีการทำนั้นมีอยู่วิธีเดียว คือ การทำใจให้หยุดให้นิ่ง ใจที่พญามารตรึงเอาไปติดในรูป เสียง
กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่างๆ จนกระทั่งเอารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ นั้นหมักดองที่เขาเรียกว่า
อาสวะ เหมือนกับผักที่ดองในรสเปรี้ยว ดองในน้ำเกลือให้เกิดรสเค็มอะไรอย่างนั้น แต่นี่หมักดองด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง สังโยชน์เบื้องต่ำ เบื้องสูง มันหมักดองกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกระทั่งเกิดความคุ้นเคยชินกับสิ่งนั้น ใจก็จะแล่นไปกับสิ่งเหล่านั้น หลุดจากฐานที่ตั้งดั้งเดิม คือ หลุดจากฐานที่ ๗ จากการเป็นตัวของตัวเอง ไปเป็นตัวของเขาที่เรียกว่า อนัตตา ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองแล้ว เป็นตัวของเขาแล้ว นั่นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง มันหลุดไปติดตรงนั้น
ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ต่างๆ
เพราะฉะนั้น เราจะต้องดึงใจกลับมาหยุดนิ่ง ให้มันหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้นไป ใหม่ๆ มันเคยอย่างไร ก็จะแวบไปอย่างนั้นก่อน แต่ถ้าเราเป็นนักสู้ที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ว่าจะต้องสู้จนกว่าจะเอาชนะ จะยอมชนะ ซึ่งเรายอมแพ้มานาน คราวนี้จะยอมชนะ ฝึกฝนอบรมใจให้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีภารกิจอันใดก็ตาม เอาภารกิจกับจิตใจให้ควบคู่กันไป ทั้งนั่ง นอน
ยืน เดิน จะเหยียดแขน คู้แขน กลับหน้า กลับหลัง อาบน้ำอาบท่า ถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ขบฉันภัตตาหาร จะทำภารกิจอันใดก็ตาม ใจก็ยังตั้งมั่นอยู่ภายในตลอดเวลา
ต้องเจริญอิทธิบาท ๔ พอใจติด แล้วจะติดใจ
ใหม่ๆ ก็หลุดบ้าง ต่อๆ ไปนานๆ ก็ติดหนักเข้าไปเรื่อยๆ
ถ้าใจติดแล้วจะติดใจ หมายความว่า พอใจติดศูนย์กลางกายแล้วความสุขจะเกิดขึ้น ความสว่างจะเกิดขึ้น จนกระทั่งทำให้เราเห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา คือ เห็นดวงธรรมภายใน เห็นกายภายใน จนกระทั่งเห็นกายธรรม
พอถึงกายธรรมแล้ว ทำให้เรารู้เห็นเรื่องราวไปตามความเป็นจริงของชีวิตทั้งหมดว่า อะไรเป็นสิ่งที่เที่ยง อะไรเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง อะไรเป็นสุข อะไรที่ไม่เป็นสุข อะไรเป็นตัวตนแท้จริง อะไรไม่ใช่
พอไปรู้ไปเห็นอย่างนี้เข้าจะติดใจ ใจก็จะดื่มด่ำไป ตอนนี้ไม่ต้องฝืน หรือพยายามที่จะทำความเพียรแล้ว ความเพียรกับใจจะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อไรใจติด เมื่อนั้นจะติดใจ ใจติดศูนย์กลางกายเมื่อไร
ก็จะติดใจศูนย์กลางกายเมื่อนั้น
สิ่งนี้จะต้องอาศัยความเพียร เจริญอิทธิบาท ๔ ให้เกิดความพึงพอใจ มีฉันทะ รักในการปฏิบัติธรรม เพราะเห็นประโยชน์ว่า จะทำให้เราสมปรารถนา
ในสิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่วันแรกในวันบวช
เมื่อฉันทะเกิดขึ้น
เพราะเห็นประโยชน์ ความเพียรที่จะกล้าต่อสู้กับอุปสรรค ต่อความปวด ความเมื่อย ความเกียจคร้านต่างๆ นานา ข้ออ้าง เงื่อนไข ข้อแม้ มันก็จะสู้กันได้ สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายที่จะมาครอบงำเรา ใจจะจดจ่ออยู่ตลอดเวลา ชำเลืองดูศูนย์กลางกายอยู่ตลอดเวลา ชำเลืองไปเรื่อยๆ หมั่นสังเกตไปเรื่อยๆ
เมื่อเราหมั่นสังเกต
เราก็จะพบเหตุแห่งการบกพร่อง แล้วก็ช่องทางแห่งการแก้ไขในที่สุดเราจะสมความปรารถนา มีธรรมกายอยู่ภายใน เป็นพระแท้ ข้างนอกครองผ้ากาสาวพัสตร์ ข้างนอกเป็นพระชั้นหนึ่ง
บวชแบบญัตติจตุตถกรรม ข้างในเป็นพระธรรมกาย เป็นพระภายใน เป็นทักขิไณยบุคคล เป็นพระแท้ที่มนุษย์และเทวาต้องการ
เพราะว่าเป็นเนื้อนาบุญ เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความบริสุทธิ์และอานุภาพ ที่จะส่งผลให้กับผู้ที่เขาได้บำเพ็ญบุญ ได้ถวายทาน บารมี และบุญนี้จะติดตัวเขาไปทุกภพทุกชาติจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
เหมือนสับสวิตช์ไฟข้างถนน ไฟตามเสาไฟฟ้าก็ติดไปตลอดทางอย่างนั้น
ทุกคนอยากทำบุญกับพระแท้
เนื่องจากทุกคนเขาเป็นนักบุญทุนน้อย เป็นนักบุญที่ขัดสน แต่อยากจะได้บุญใหญ่ เขาก็จะต้องเลือกทำบุญกับเนื้อนาบุญ แหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งอานุภาพ เพราะว่าทำน้อยแต่ได้ผลมาก ตักบาตรทัพพีเดียว แต่ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหลายชาติ เขาอยากได้กันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเลือก และในที่สุดเขาก็เลือกเรานี่แหละเป็นเนื้อนาบุญ
เทวดาอยู่บนสวรรค์ พรหม อรูปพรหม มีสุขอยู่ในสุคติภูมิ ไม่มีความยินดีจะมาคลุกคลีอยู่ในโลก
เหมือนพระจันทร์ ดวงดาว หรือพระอาทิตย์ โคจรอยู่บนท้องฟ้า ไม่อยากจะมาคลุกคลีในโลก เพราะโลกนี้ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ แต่ยามใดที่เนื้อนาบุญมาบังเกิดขึ้นในโลก เทวดา พรหม อรูปพรหม ทนไม่ไหว อยากมา อยากดู อยากได้บุญ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของเทวดา พรหม อรูปพรหม ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เหมือนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศเหนือ
ตกทางทิศใต้อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น พรรษานี้นะลูกนะ ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้ดี
ให้ภารกิจกับจิตใจไปด้วยกัน เราจะได้สมความปรารถนาในสิ่งที่เราหวังเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่เราได้บวชมา
ในที่สุดนี้ หลวงพ่อขออำนวยพร ขออานุภาพบุญ บารมี รัศมี กำลัง
ฤทธิ์ อำนาจ สิทธิเฉียบขาดของพระต้นธาตุต้นธรรม พระพุทธเจ้าจักรพรรดิ บารมีธรรมหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย บารมีธรรมของคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และมหาทานบารมีตลอดจนกระทั่งคุณความดีที่ลูกทุกๆ
รูปได้สั่งสมอบรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
ตั้งแต่ในปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์สร้างบารมีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ จงมารวมอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เป็นดวงบุญใหญ่ ที่มีความสว่างไสวดุจยามเที่ยงวัน ที่เรียงกันเต็มท้องฟ้า
ให้บุญนี้ ขจัดทุกข์
โศก โรค ภัย วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่ไม่ดี กิเลสอาสวะ สิ่งที่เป็นมลทินของจิตใจ เครื่องกังวลต่างๆ นานา ของลูกทุกๆ องค์ ให้ละลายหายสูญไปให้หมด ให้มีแต่สิ่งที่ดีงามบังเกิดขึ้นตลอดพรรษานี้
ให้มีสุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง
อย่าเจ็บ อย่าป่วย อย่าไข้ ให้ใจปลอดกังวล มีความสุขกายสุขใจในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ให้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกาย ให้เป็นกัลยาณมิตรผู้ให้แสงสว่างแก่มนุษย์และเทวดา ให้เป็นที่รักของมนุษย์ ของเทวดา พรหม อรูปพรหม พระนิพพานทั้งหลาย ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป จงทุกประการเทอญ
---------------------------------
เรื่อง : ภิกษุสามเณร ๓ ป.
ในโอกาส : วันเข้าพรรษา
ผู้ฟัง : พระภิกษุ
สถานที่ : อุโบสถ วัดพระธรรมกาย
เมื่อ : วันจันทร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
เวลา : ๐๘.๓๐ น. – ๑๐.๐๐ น.
วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2565