คำว่า “วิชชาธรรมกาย”
ประกอบไปด้วย ๒ คำ คือ คำว่า “วิชชา” กับคำว่า “ธรรมกาย” คำว่า
“วิชชา” แตกต่างจากคำว่า “วิชา” ในทางโลกที่เราได้เคยศึกษาเล่าเรียนกัน
วิชาทางโลกนั้นเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นใน
๒ ระดับ คือ ระดับสุตมยปัญญากับจินตามยปัญญา
สุตมยปัญญา คือ
ความรอบรู้ที่เกิดจากการได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้ศึกษาเล่าเรียนมา เป็นการรู้จำ คือ
จำในสิ่งที่ผู้รู้ไม่ว่าจะมีความรู้สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ตามได้บันทึกเรื่องราวสิ่งที่รู้เห็นเอาไว้เป็นวิทยาทานให้ได้ศึกษากันสืบต่อมา
จินตามยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดจากการนำมาคิดพิจารณาหาเหตุผลแบบนักคิดทั่วไป
ความคิดบางครั้งถูกบ้างผิดบ้าง นี่เป็นปัญญาใน ๒ ระดับ แต่ปัญญาในพระพุทธศาสนามี ๓ ระดับ
ระดับที่ ๓ คือ
ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการฝึกฝนลงมือปฏิบัติแล้ว ในระดับที่อยู่นอกเหนือเหตุผลธรรมดา
เราจะอาศัยเหตุผลธรรมดามาใช้ไม่ได้เลย
เพราะภาวนามยปัญญาเป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้ง คือ จิตต้องเกิดดวงสว่างขึ้นมา
และความสว่างนั้นนำไปสู่จักษุ ธรรมจักษุเกิดขึ้นหรือญาณทัสสนะเกิดขึ้น สว่างแล้วจึงเห็น
เห็นแล้วจึงรู้
เพราะฉะนั้น “วิชชา” จึงหมายถึง ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง
ความเห็นที่เกิดจากจิตที่บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายแล้ว เกิดปัญญาบริสุทธิ์ รู้เห็นไปตามความเป็นจริง รู้ทั่วถึง
รู้พร้อม แล้วก็รู้ไปสู่เป้าหมาย ถ้าเราศึกษาคงเคยได้ยินคำว่า
อภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ คือรู้ได้ทั่วถึง รู้พร้อม รู้ไปตามความเป็นจริงและถูกต้อง
เหมือนของที่อยู่ในที่มืดดึงมาอยู่กลางแจ้งเราก็จะเห็นชัดเจน
เช่น เชือกเปียกน้ำ ถ้าอยู่ในที่มืด ๆ
บางทีเราอาจจะคิดว่า เป็นงู หรือเป็นตัวอะไรที่มันยาว ๆ
หรืออาจจะเป็นเชือก ต้องใช้สมมติฐานด้นเดาถูกบ้างผิดบ้าง แต่ว่าเมื่อลากมาอยู่กลางแจ้งก็รู้ชัดว่า นี่แค่เชือกเปียกน้ำเท่านั้น
คำว่า “ธรรมกาย” ในพจนานุกรม แปลว่า หมวดหมู่แห่งธรรม เขาแปลได้แค่นั้น คือ ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์รวมประชุมกันเรียกว่า หมวดหมู่แห่งธรรม
มีนักศึกษาชาวตะวันตกสองสามีภรรยาเขาได้ค้นคว้ารวบรวมความหมายของคำว่า
ธรรม ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกได้ ๕๐ กว่าความหมาย มีความหมายหนึ่งที่น่าสนใจ เขาบอกว่า ธรรม มีลักษณะเป็นดวงกลม ๆ ใส ๆ สว่าง ๆ และมีตัวตน เพราะฉะนั้น “ธรรมกาย” คือ
กายที่ประกอบไปด้วยธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมประชุมเกิดเป็นก้อนกาย
เป็นกายที่มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ
เพราะฉะนั้น
“วิชชาธรรมกาย” ก็คือความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้งด้วยธรรมจักขุ แล้วก็รู้ได้ด้วยญาณทัสสนะของธรรมกายนั่นเอง นี่เป็นเรื่องสำคัญ
วิชชาธรรมกายเกิดขึ้นได้ด้วยธรรมกาย เป็นที่ประชุมรวมอยู่ตรงนั้น มีอยู่ในกลางกายของมนุษย์ทุกคน
มีมาดั้งเดิมตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน้น เริ่มต้นเมื่อไรไม่มีใครทราบ
การที่เราเคารพกราบไหว้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงบรรลุวิชชาธรรมกายก่อน แล้วก็ได้ทรงนำมาเปิดเผยกระทั่งมีผู้ตรัสรู้ตามพระองค์ เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมมากมาย แต่หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๕๐๐ ปี ความรู้ยิ่งนี้ก็หายไปคงเหลือไว้แต่ชื่อ คือ คำว่า “ธรรมกาย” ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ในทางพระพุทธศาสนาในนิกายต่าง
ๆ ทั้งวัชรยาน มหายาน และเถรวาท แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า ธรรมกายนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร
จนกระทั่งเมื่อ
๘๔ ปีที่แล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ท่านได้สละชีวิตปฏิบัติธรรมกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ณ วัดโบสถ์บน บางคูเวียงนนทบุรี
ความลับนี้จึงได้เปิดเผยออกมาสู่ชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง
หลวงพ่อวัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ ท่านบวชเมื่ออายุ ๒๒ ปี บวชได้หนึ่งวัน รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งก็ปฏิบัติธรรมแล้วก็ศึกษาทางด้านปริยัติ
ศึกษาหมดทุกสำนักแต่ว่าไม่ได้สอบเป็นมหาเปรียญ รู้ว่าสำนักไหนมีครูดี ชำนาญในพระไตรปิฎกท่านก็จะไปศึกษาทุกหนทุกแห่ง
ศึกษาด้วยตัวเองด้วย จากครูบาอาจารย์ตามสำนักต่าง ๆ ด้วย
แล้วในที่สุดท่านก็สรุปว่า ความรู้จะสมบูรณ์ได้จะต้องประกอบไปด้วย
๓ ป. คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติก็คือการศึกษาด้านทฤษฎีต้องอ่านต้องศึกษา ท่านอ่านหมดในพระไตรปิฎก แล้วก็ปฏิบัติด้วยตนเองเรื่อยมา ไม่ว่างเว้นในการปฏิบัติเลยแม้แต่วันเดียว
รู้ข่าวคราวว่าครูไหนสำนักไหนมีการปฏิบัติ ก็ยอมตนเข้าไปเป็นศิษย์ไปศึกษา ได้เข้าถึงที่สุดแห่งความรู้ของครูบาอาจารย์
ซึ่งได้แค่ดวงสว่างปรากฏอยู่แล้วครูก็ชวนท่านช่วยกันสั่งสอนศิษย์เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์ของท่าน
แต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำมีความคิดว่า ความรู้แค่นี้เหมือนหางอึ่งนิดเดียว
จะไปเป็นครูเขาได้อย่างไร ท่านก็กราบลามาด้วยความเคารพ แล้วก็แวะเวียนไปศึกษาวิธีการต่าง
ๆ ที่มีปรากฏอยู่ในวิสุทธิมรรค ๔๐ วิธีก็ศึกษากันมาทั่วหมดทุกสำนัก
แต่ก็ยังไม่จุใจเพราะท่านมีความรู้สึกว่า ยังไม่ถึงจุดของความรู้ตามที่ได้ศึกษาภาคปริยัติมา
ในที่สุด หลังจากที่ศึกษาทั้งทฤษฎีและปฏิบัติตามสำนักต่าง
ๆ มาจนย่างเข้าพรรษาที่ ๑๑ ของการบวช
ในกลางพรรษาขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ท่านก็ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า
วันนี้เป็นไงเป็นกัน ถ้าหากว่า ไม่ได้บรรลุธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุจะไม่ลุกจากที่
จะนั่งปล่อยชีวิตอย่างนี้เรื่อยไป แม้เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน
ถ้าไม่รู้ไม่เห็นธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ตายเถอะ นี่เป็นความอัศจรรย์ของภิกษุหนุ่มวัย
๓๓ ปีซึ่งยังไม่ได้รู้เรื่องราวอะไรเลยเกี่ยวกับหนทางไปนิพพาน ได้ศึกษาแต่พระปริยัติ
แล้วในที่สุดวันนั้นตามประวัติที่ท่านได้บันทึกเอาไว้ ท่านได้ทำความเพียรที่วัดโบสถ์บน
บางคูเวียง ปัจจุบันนี้ในโบสถ์นั้นก็ยังมีพระพุทธรูปองค์ดั้งเดิมอยู่ ที่นั่งก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ราบเรียบ
ท่านก็เลือกเอามุมหนึ่งเป็นสถานที่นั่งสมาธิตัดสินใจยอมสละแม้ชีวิต เอานิ้วจุ่มน้ำมันก๊าดเพื่อจะขีดวงกันมดที่ไต่ตามช่องแตกของพื้นหินไม่ให้มารบกวน
แต่ขีดไปได้ครึ่งหนึ่งท่านก็นึกละอายใจว่า
สละชีวิตแล้วยังมากลัวมดอีกจึงตัดสินใจหลับตาปล่อยชีวิตไปเลย
ท่านบอกว่า ค่อนคืนทีเดียวจึงได้บรรลุถึงธรรมกาย
บรรลุถึงธรรมกายแล้วท่านก็บอก โอ้! มันยากอย่างนี้นี่เอง มันต้องดับก่อนแล้วจึงเกิด
คือ ใจต้องหยุดต้องนิ่งเสียก่อน ถูกส่วนถึงจะเห็นไปตามลำดับ เห็นไปได้ ๕ กายจนกระทั่งถึงกายธรรม
พอถึงกายธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเข้าก็รู้ว่านี่แหละ คือ กายธรรม เป็นกายตรัสรู้ธรรมอยู่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ท่านตรวจตราดูทบทวนดูอย่างดีทีเดียว
จนกระทั่งมั่นใจว่า
นี่ถูกทางพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็ทบทวนทำความเพียรไปทั้งคืน จนกระทั่งติดอยู่ในกลางท่าน แล้วต่อมาท่านก็เห็นในญาณทัสสนะว่า จะมีผู้บรรลุธรรมกายตามท่านอยู่ที่วัดบางปลา
อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
ภายในพรรษานั้น ท่านก็ทบทวนแล้วก็ศึกษาวิชชาธรรมกายด้วยธรรมกายภายในกลางกายเรื่อยไป ในที่สุดออกพรรษาแล้วก็ได้ไปที่วัดบางปลา มีผู้บรรลุธรรมตามท่าน เป็นพระภิกษุ ๓ รูป ฆราวาส ๔ ท่าน ตามที่ท่านได้เห็นในญาณทัสสนะ แล้วก็เริ่มเผยแผ่ธรรมเรื่อยมาจนกระทั่งได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ
เพราะฉะนั้น การที่หลวงพ่อวัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ ได้ค้นพบ “วิชชาธรรมกาย” ทำให้พวกเราทั้งหลายรู้จัก “ธรรมกาย” ว่ามีอยู่ในกลางกายของมนุษย์ทุกคน เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด และเป็นเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ที่ต่างเกิดมาก็เพื่อแสวงหาธรรมกาย เพราะฉะนั้นหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จึงเป็นบุคคลสำคัญที่มีพระคุณต่อชาวโลกและเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง
คุณครูไม่ใหญ่
วันอาทิตย์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559