จากประสบการณ์การปฏิบัติธรรมบนดอย
หลวงพ่อเห็นว่า มีอยู่ ๒ สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรม คือ
๑.ความประมาท
ขออย่ากลัว
หรือกังวลว่า พวกเราจะไม่ได้ธรรมะ บารมีน้อย เดี๋ยวไม่ทันคนอื่น
หลวงพ่อขอให้เลิกคิดเช่นนี้ได้ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป
บุญบารมีของเราเต็มเปี่ยมแล้ว จะเข้าถึงธรรมเมื่อใดก็ได้ แต่ที่เรายังไม่เข้าถึงธรรม เพราะไม่ได้ทำติดต่อสม่ำเสมอตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน
ให้ตั้งใจปฏิบัติตามหลวงพ่อสอนด้วยทางสายกลาง ขออย่าให้เราตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป
เรื่องของใจไม่ได้ถูกขีดคั่นด้วยระยะทาง
เวลา ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลก ๙๓ ล้านไมล์ ใช้เวลาเดินทาง ๘ นาที
กว่าแสงจะมาถึงโลก แต่ใจของเรานึกถึงดวงอาทิตย์ นึกแล้วใจก็ไปถึงทันที ใช้เวลาไม่ถึงวินาที
ระยะทาง ๙๓ ล้านไมล์ ใจของเรายังไปถึงได้ แต่ระยะทางจากปากจมูกถึงศูนย์กลางกาย
ยาวแค่ศอกเดียว ใจยังไปไม่ถึง
ใจถึง ใจหยุดที่ศูนย์กลางกายได้เมื่อใด
ก็จะเห็นธรรมะทันที หยุดเมื่อไร ถึงเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นว่า คนที่นั่งสมาธิมาก่อนเรา
เข้าวัดก่อนเราจะมีโอกาสมากกว่า ขึ้นอยู่กับวินาทีนี้เดี๋ยวนี้ต่างหาก
๒. การเพ่งโทษผู้อื่น
ทุกคนในที่นี้ยังไม่มีใครสมบูรณ์ทั้งนั้น
บางคนใจสมบูรณ์ แต่กาย วาจา ยังไม่สมบูรณ์ อาจทำอะไรที่ขัดหูขัดใจเรา
ก็ขอว่าอย่าไปสนใจ ให้สนใจแต่ฐานที่ ๗
แต่ก็อย่าสนใจมากเกินไปจนเครียด จนเห็นแก่ตัว
ให้มีเมตตา ถ้าจะเตือนใคร
ให้ดูเสียก่อนว่า เขารับได้ไหม ถ้าเขายังไม่พร้อม ก็อย่าเพิ่งเตือน
ถ้าเขาพร้อมก็เตือนด้วยจิตเมตตา มิฉะนั้นจะเป็นผลร้ายต่อตนเองภายหลัง
สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรม ยังมีข้ออื่นอีก
แต่ ๒ ข้อนี้ถือว่าสำคัญที่สุด
ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ขำก็ขำ
เรื่องเล็กกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเสียงแห่งความหลับดังขึ้น
อีกฝ่ายกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่งว่า ทำให้เขานอนไม่หลับ แต่แล้วเมื่อตัวเองหลับก็มีเสียงเพลงยามนิทราเหมือนกัน
ขอให้เรานึกเสียว่าเป็นเสียงสวดมนต์ก็หมดเรื่อง
ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
ขอให้เราเอาใจไว้ที่ศูนย์กลางกายเท่านั้น เรามีเวลาน้อยเพียง ๖ วัน ขอให้ใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด
ทบทวนโอวาทหลวงพ่อธัมมชโย
ปฏิบัติธรรมบนดอยสุเทพ-ปุย
ระหว่างวันที่ ๓-๘ มีนาคม
พ.ศ. ๒๕๓๙
วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2565