สิ่งที่เกื้อหนุนการปฏิบัติธรรม ที่จะทำให้ใจเราหยุดนิ่งได้เร็ว
ประการที่ ๑ ต้องหัดเป็นคนมองโลกไปตามความเป็นจริง ไม่ได้หมายความว่า ให้มองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย แต่ให้มองโลกไปตามหลักโลกธรรม ๘ คือ มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ มีคนสรรเสริญ-มีคนนินทา มีสุข-มีทุกข์
ธรรม ๘ ประการนี้ จะวนเวียนในชีวิตประจำวันของเราอยู่ตลอดเวลา เมื่อมันมากระทบ เราจะต้องไม่หวั่นไหว ทำใจให้เป็นกลาง ๆ เพราะว่ามันเป็นธรรมดาโลก
ประการที่ ๒ ทำใจให้เป็นกุศล ให้เบิกบานแช่มชื่นอยู่เสมอ ใครที่เป็นคนหงุดหงิด ฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ ใจร้อน แง่งอนอะไรต่าง ๆ ต้องทิ้งไปให้หมด อย่าไปอนุรักษ์ไว้ แล้วทำใจของเราให้ผ่องใส ให้เยือกเย็น สบาย ๆ
ประการที่ ๓ มองทุก ๆ คน เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นสามี ภรรยา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร ธิดา หรือเพื่อนร่วมงานของเรา ให้มองว่า เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความเสมอเหมือนกันหมดทุกคน และมีความปรารถนาดีให้กับเพื่อนเราทุก ๆ คน
เมื่อเรามองอย่างนี้ สิ่งที่เราจะได้รับ คือ ใจเราสบาย ไม่หงุดหงิดง่าย ไม่ฉุนเฉียวง่าย ไม่เจ้าอารมณ์ง่าย จะนั่งนอนยืนเดินมีความรู้สึกเหมือนมีมิตรสหายอยู่ห้อมล้อมตัวเรา เมื่อทำบ่อย ๆ ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นมาเอง
ประการที่ ๔ มองโลกให้ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร จะทำมาหากิน หรือทำภารกิจอันใดเราก็ทำไปอย่างเต็มที่ แต่ไม่ติดอะไร เฉย ๆ
นำสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนมาเป็นอุปกรณ์ในการฝึกอย่างนี้
เวลามานั่งสมาธิจะง่าย เพราะใจมันสบายตลอดทั้งวันอยู่แล้ว เนื่องจากเราไม่ติดเรื่องกระจุ๊กกระจิ๊ก เรื่องปลีกย่อย มุ่งแต่เรื่องหลักใหญ่ คือ การปฏิบัติธรรม เรื่องปลีกย่อยที่จะทำให้ใจขุ่นมัวก็หมดไป
พอใจสบายเบิกบาน ยังไม่ทันนั่งขัดสมาธิ ตายังไม่ทันหลับ ใจก็หยุดนิ่งลงไปเลย ทำอย่างนี้ได้แล้ว หยุดนิ่งเฉยก็จะมาเองเลย
จำไว้ว่า ธรรมกายเป็นเป้าหมายของชีวิต นอกนั้นเป็นเครื่องประกอบกันมา จับหลักตรงนี้ให้ได้แล้วจะมีความสุข สบาย และจะเข้าถึงธรรมภายในกันทุกคน
คุณครูไม่ใหญ่
๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๕
วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564