นึกนิมิตและคำภาวนา
คำไม่เล็กของคุณครูไม่ใหญ่มินิ 5 (ศิลปะแห่งสมาธิ)
การปฏิบัติธรรมในแต่ละวันไม่เหมือนกัน
บางวันอยากภาวนา
บางวันไม่อยากภาวนา
บางวันอยากนึกนิมิต
บางวันไม่อยากนึกนิมิต
ให้อนุเคราะห์คล้อยตามความรู้สึกนึกคิด
ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นไป
----------------------------------
“คำภาวนา”
มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ให้ดึงใจกลับมาสู่
ที่ตั้งดั้งเดิมภายในตัว
มาอยู่กับเนื้อกับตัว
๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
----------------------------------
ถ้าหากเรามีความรู้สึกว่า
ไม่ภาวนาแล้วสบายใจกว่า
เราก็ไม่ต้องภาวนา
วางใจเบาๆ หยุดเบาๆ
นิ่งเบาๆ สบายๆ
๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
จะภาวนาก็ได้
จะไม่ภาวนา...ก็ไม่เป็นไร
ถ้าเรามั่นใจว่า
เราไม่ต้องภาวนาก็ไม่ฟุ้ง
ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ใจตั้งมั่นได้
เราก็ไม่ต้องภาวนา แล้วแต่เรา
เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน
๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘
----------------------------------
ถ้าจะ “ภาวนา”
ก็ต้องให้เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน
ค่อยๆ ดังออกมาจากกลางท้อง
เหมือนมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์
แห่งอานุภาพที่ไม่มีประมาณ
แหล่งแห่งปัญญา
แหล่งแห่งมหากรุณา
พรั่งพรูออกมาจากตรงนั้น
๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘
----------------------------------
ภาวนาไปเรื่อยๆ กี่ครั้งก็ได้
จนกว่าอยากจะอยู่เฉยๆ
หยุดกับนิ่งอย่างเดียว
ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราก็
ไม่ต้องหวนกลับมาภาวนาใหม่นะ
๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘
----------------------------------
การภาวนา “สัมมาอะระหัง”
ต้องให้เสียงดังออกมาจากศูนย์กลางกาย
ต้องภาวนาอย่างสบายๆ
อย่าไปตั้งใจมาก
๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
----------------------------------
ภาวนาไปเรื่อยๆ
พอภาวนาไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว
คำภาวนาหายไป
เมื่อไรคำภาวนาหายไป แล้วใจไม่ฟุ้ง
ก็ไม่ต้องกลับมาภาวนาใหม่
ให้ทำใจนิ่งเฉยๆ อย่างเดียว
เดี๋ยวใจมันก็หยุดนิ่งข้างใน
๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
----------------------------------
ถ้าเรานึกเป็นภาพ
จะเป็นภาพดวงแก้ว องค์พระ
มหาปูชนียาจารย์
หรือสิ่งที่เราคุ้นเคยก็ได้
แต่ต้องเป็นภาพที่นำมา
ซึ่งความบริสุทธิ์ ความสูงส่งของใจ
ยกเว้นภาพที่นำมา
ซึ่งความกำหนัดยินดีในกาม
ในความขัดเคืองใจ ขุ่นมัว
ผูกพยาบาท หรือความคิดเบียดเบียน
ต่อสรรพสัตว์และเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
จะนึกเป็นภาพก็ได้
จะทำความรู้สึกว่ามีภาพก็ได้
หรือจะวางใจเฉยๆ ก็ได้
ได้ทุกรูปแบบ
๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
เราตรึก เรานึกถึง “ดวง”
ก็สามารถเห็น “องค์พระ” ได้
เรานึกถึง “องค์พระ”
ก็สามารถเห็น “ดวง” ได้
เพราะในดวงก็มีองค์พระ
ในองค์พระก็มีดวงใสๆ
๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘
----------------------------------
จะนึกคำว่า “พระ” ก็ได้ แม้ไม่เห็นพระ
จะนึกคำว่า “ดวง” ก็ได้ แม้ไม่เห็นดวง
หรือจะนึกคำว่า “บุญ” ก็ได้ แม้ไม่เห็นอะไร
๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
นึกบ่อยๆ...ก็นึกได้
นึกได้บ่อยๆ...ก็เห็นได้
เห็นได้บ่อยๆ...ก็เข้าถึงได้
เข้าถึงได้บ่อยๆ...ก็ศึกษาได้
มันมีขั้นตอนอย่างนี้
เขาทำกันได้เยอะแยะ
เราเป็นคนเช่นเดียวกับเขา
ถ้ามีความเพียรไม่น้อยหน้าเขา
เราก็ต้องทำได้
๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
----------------------------------
นึกอย่างง่ายๆ
ก็จะได้อย่างง่ายๆ
๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒
----------------------------------
“การนึกนิมิต”
ดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ
หรือวัสดุอะไรที่เราคุ้นเคยก็ตาม
นั่นคือหลักของใจ
“คำภาวนา”
เหมือนเชือกที่จะประคองใจเอาไว้
ให้มาอยู่กับหลัก
๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
ใหม่ๆ มันก็แวบไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้
เราก็นึกถึงดวงใสๆ องค์พระใสๆ
หรืออะไรก็ได้ที่ใสๆ
แล้วก็ภาวนา “สัมมาอะระหัง” เรื่อยไป
จะกี่สิบ กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนครั้งก็ได้
มันก็จะมีสักครั้งหนึ่งที่ใจมันหยุดนิ่ง
๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
“ตรึก”
คือ การนึกถึงภาพดวงแก้วใสๆ
พระแก้วใสๆ อย่างสบายๆ
คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย
๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
ตรึกไว้เรื่อยๆ
นั่งตรึก ยืนตรึก เดินตรึก นอนตรึก
วิ่ง exercise ออกกำลังกายก็ตรึกไปด้วย
ใหม่ๆ มันก็นึกไม่ออก
ก็ทำความรู้สึกว่ามีอยู่ภายใน
พอต่อๆ ไปก็ค่อยๆ นึกได้รัวๆ รางๆ
ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ช้าใจก็จะถูกส่วนไปเอง
๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
หยาบให้ตรึก
ละเอียดให้แตะ
๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
หยาบให้ “ตรึก”
เพราะว่าเราต้องต่อสู้กับ นิวรณ์ ๕
คือ ความฟุ้ง ความง่วง ความเคลิ้ม
ความลังเลสงสัย เหล่านี้เป็นต้น
ดังนั้น เราต้องมีหลักของใจ เอาไว้เป็นที่ผูกใจ
เหมือนม้าพยศ มีเชือกผูกเอาไว้กับหลัก
๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
ส่วนใครที่ทำได้แล้ว
เห็นดวง เห็นกาย เห็นองค์พระ
ก็ “แตะ” ใจเบาๆ แตะไปเรื่อยๆ
ใช้ระบบสัมผัส แตะดวงใสๆ
แตะกายภายในใสๆ
แตะองค์พระใสๆ
เดี๋ยวท่านก็จะดูดวูบเข้าไปข้างใน
๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
----------------------------------
ถ้าเราจะไปใช้ “แตะ”
ตอนอารมณ์ยังหยาบอยู่ มันไม่ได้
เหมือนเอามีดปอกผลไม้มาผ่าฟืน
จะผ่าฟืนต้องใช้มีดอีโต้
ต้องเอาความหยาบไล่เลี่ยกัน
เพราะฉะนั้น
ถ้าหยาบให้ตรึก ละเอียดให้แตะ
พอละเอียดแล้ว เราไม่ต้องไปตรึก
แค่ใช้ใจแตะเบาๆ มันก็จะวื้ดเข้าไปเลย
เดี๋ยวก็ชัด เดี๋ยวก็ใส เดี๋ยวก็สว่างขึ้นมาเอง
วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560