วันจันทร์ที่ ๑๐
มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ในสมัยที่พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ คืนหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งเป็นพระราชาแห่งแคว้นโกศล
ได้บรรทมหลับ พระองค์ทรงฝันเห็นนิมิตยืดยาวถึง ๑๖ ประการ
พระองค์ทรงจดจำได้อย่างแม่นยำ
เพราะความฝันนั้นชัดเจนแจ่มใส และเป็นความฝันที่แปลกแตกต่างจากที่เคยฝัน ทรงตกพระทัยตื่นขึ้นกลางดึก
ทรงเกิดความหวาดกลัวต่อมรณภัย จนไม่สามารถที่จะข่มพระเนตรหลับต่อไปได้อีก
กระทั่งรุ่งเช้า พราหมณ์ปุโรหิตมาเข้าเฝ้า
พระองค์จึงตรัสเล่าความฝันทั้ง ๑๖ ประการ ให้ฟัง และรับสั่งถามว่า “ท่านพราหมณ์
พวกท่านช่วยทำนายฝันให้ทีเถิดว่า จะเกิดเหตุร้ายดีอะไรเกิดขึ้นกับเราไหม”
เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตต่างมืด
๘ ด้าน เพราะไม่มีใครสามารถพยากรณ์ความฝันทั้ง ๑๖ ประการนี้ได้เลย ครั้นจะบอกว่า ไม่รู้ก็ไม่ได้
เพราะอาจกระทบถึงตำแหน่งได้
ด้วยเหตุนี้เอง เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตจึงแสร้งทำท่าสลัดมือ
แสดงอาการหวาดกลัวเมื่อได้ฟังความฝันทั้ง ๑๖ ประการจบลง
เมื่อพระองค์เห็นอาการของเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตเช่นนั้น
จึงถามว่า
“ท่านพราหมณ์ ฝันของเรามันดีหรือร้ายอย่างไร
เหตุใดพวกท่านจึงพากันแสดงอาการสะดุ้งหวาดกลัวเช่นนั้น”
เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า
“ข้าแต่มหาราชเจ้า พระสุบินของพระองค์ในครั้งนี้ มันช่างรุนแรงและเลวร้ายยิ่งนัก
จะมีเหตุร้าย ๑ ใน ๓ ประการนี้เกิดขึ้นกับพระองค์ คือ
ประการที่ ๑ จะเกิดความวิบัติต่อราชสมบัติของพระองค์
ประการที่ ๒ จะมีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้น
ประการที่ ๓ จะมีอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นแก่พระองค์พระเจ้าข้า”
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ฟังเช่นนั้น
จึงถามด้วยอาการพรั่นพรึงว่า “แล้วพวกท่านพอจะหาวิธีแก้ไขเหตุร้ายทั้ง
๓ ประการนี้ได้หรือไม่”
เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตก็ได้กราบทูลอย่างมั่วนิ่มว่า
“ขอเดชะมหาราชเจ้า พระสุบินของพระองค์ในครั้งนี้มันช่างร้ายแรงยิ่งนัก
พวกเกล้ากระหม่อมฉันเกรงว่า เหตุร้ายในครั้งนี้เห็นทีพระองค์จะไม่มีทางหลีกเลี่ยงไปได้
ทำได้อย่างมากก็คงเพียงแค่ผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้นพระเจ้าข้า” (คือ พูดเผื่อเหนียวไว้ เผื่อทางหนีทีไล่ เกิดไม่เป็นอย่างนั้นเข้า เดี๋ยวหัวหลุดจากบ่าได้)
เมื่อเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตกล่าวเช่นนั้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงถามถึงวิธีแก้ต่อไปว่า “เราจะต้องทำอย่างไร
ถึงจะผ่านเหตุร้ายทั้ง ๓ ประการครั้งนี้ไปได้”
เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลตามวิธีที่ถนัดว่า
“ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จะต้องจัดพิธีบูชายัญด้วยวัตถุสิ่งของทุกอย่าง
และสัตว์ทุกชนิด ชนิดละ ๔ อย่างพระเจ้าข้า
เมื่อพระองค์ทรงทำเช่นนี้แล้วเหตุร้ายในครั้งนี้ ก็จะมีกำลังเบาบางลงไป” ที่พราหมณ์ปุโรหิตแนะนำอย่างนี้เพราะมีความรู้จำกัดเพียงแค่นี้
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับตรับฟังเช่นนั้น
พระองค์จึงตรัสกับเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตทั้งหลายว่า “ท่านอาจารย์
ถ้าอย่างนั้น เราขอฝากชีวิตไว้กับพวกท่านด้วย พวกท่านจงรีบจัดเตรียมพิธีบูชายัญ
ปัดเป่าเหตุร้ายให้แก่เราโดยเร็วด้วยเถิด”
เมื่อเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตได้ฟังเช่นนั้นต่างก็พากันดีใจและแอบกระหยิ่มยิ้มย่องในใจว่า
ในคราวนี้แหละ พวกเรารวยกันเละ แล้วก็ทำทีแสร้งพูดปลอบประโลมพระเจ้าปเสนทิโกศลไปว่า
“ขอมหาราชเจ้าอย่าทรงพระวิตกกังวลไปเลย
พวกข้าพระองค์จะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
เมื่อเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตออกมาจากพระราชนิเวศน์แล้ว
ทุกคนต่างก็รีบรวบรวมวัตถุสิ่งของ รวมถึงสัตว์ชนิดต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน ทั้งสัตว์
๒ เท้า ๔ เท้า รวมทั้งฝูงนกจำนวนมากเอาไว้
ช่วยกันเตรียมขุดหลุมเพื่อเอาไว้ใช้ประกอบพิธีบูชายัญภายนอกเขตพระนคร (นี่เป็นเพราะว่าขาดความรู้เรื่องกฎแห่งกรรม
ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว สัตว์ก็คืออดีตมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตผิดพลาด
อยู่ในภูมิของอบาย)
กล่าวถึงพระนางมัลลิกา
อัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครมกันไปหมดเลย
เสียงสัตว์ร้องบ้าง คนเอะอะเสียงดังบ้าง จึงทรงรีบรุดไปเข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลในทันที
และกราบทูลถามว่า “มีอะไรเกิดขึ้นหรือเพค่ะ ทำไมพวกพราหมณ์จึงโกลาหลกกันเช่นนี้”
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระนางมัลลิกาฟัง
เมื่อพระนางมัลลิกาเทวี
ผู้มีความศรัทธาในพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม
ได้ฟังเรื่องพิธีบูชายัญแล้ว พระนางจึงได้กราบทูลว่า “เสด็จพี่ได้ทรงนำนิมิตแห่งความฝันทั้ง
๑๖ ประการนี้ ไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด
อีกทั้งยังเป็นผู้รู้แจ้งโลกยิ่งกว่าเหล่าพราหมณ์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และในเทวโลกของพวกเราแล้วหรือเพค่ะ”
เพราะความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังถูกความกลัวต่อมรณภัยเข้าครอบงำจิตใจ
จึงทำให้พระองค์ทรงลืมไป จึงตรัสถามว่า “น้องหญิง ใครกันหรือที่เจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด
และยังเป็นผู้รู้แจ้งโลกยิ่งกว่าเหล่าพราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และเทวโลก”
พระนางมัลลิกา “พระองค์ทรงลืมพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส เป็นสัพพัญญู
และก็เป็นบุคคลผู้เลิศที่สุดในโลกและเทวโลกไปแล้วหรือ พระตถาคตเจ้าของพวกเรานี่แหละที่จะช่วยพยากรณ์ความฝันทั้ง
๑๖ ประการ ของพระองค์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด”
พระเจ้าปเสนทิโกศล “จริงด้วย
พี่ลืมพระบรมศาสดาไปได้อย่างไรกัน”
ว่าแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้เสด็จไปสู่พระวิหารของพระบรมศาสดา
พร้อมด้วยพระนางมัลลิกาและเหล่าราชบุรุษทั้งหลาย
เมื่อขบวนเสด็จของพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปถึงพระวิหารแล้ว
พระองค์ก็ได้กราบถวายบังคมพระบรมศาสดา และประทับนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เรามาศึกษาคำว่า นั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กันก่อน
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง หมายถึง
การนั่งโดยเว้นจากโทษ ๖ ประการ หรือพูดง่าย ๆ คือ เว้นจากที่ที่ไม่สมควรจะนั่ง ๖
อย่าง ได้แก่
๑. อะติทูรัง คือ นั่งไกลเกินไป
เพราะจะทำให้ต้องพูดเสียงดังในเวลาสนทนาธรรม
๒. อัจจาสันนัง คือ
นั่งใกล้เกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเบียดเสียด และทำให้รู้สึกอึดอัด
๓. อุปะริวาตัง คือ
นั่งที่เหนือลม อาจจะทำให้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์พัดมารบกวน เช่น กลิ่นตัว
หรือกลิ่นออกจากตัว
๔. อุนนะตัปปะเทสัง
คือ นั่งในที่สูง เพราะจะเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อผู้แสดงธรรม
๕. อติสัมมุขัง คือ
นั่งตรงหน้าเกินไป เพราะจะทำให้ต้องจ้องตากันในเวลาที่มองหน้า ต้องเปิดช่องให้พักสายตาบ้าง
๖. อติปัจฉา คือ นั่งล้ำไปข้างหลังมาก
เพราะจะทำให้ต้องยื่นคอในเวลาที่จะมองดู
โทษ ๖
อย่างนี้ต้องจำไว้นะ เวลาไปกราบพระเถระที่ใด พึงจำ ให้หาที่นั่งอันควร
ซึ่งยกเว้นโทษของการนั่ง ๖ ประการดังกล่าว
จากนั้นพระบรมศาสดาตรัสถามว่า “มหาบพิตร
เสด็จมาหาเราเนื่องด้วยเหตุอันใด ทำไมดูราวกับว่า ทรงมีราชกิจเร่งด่วน”
เมื่อพระบรมศาสดาทรงเปิดโอกาสเช่นนั้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลทันทีว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อใกล้รุ่งของวันนี้ หม่อมฉันตกใจตื่น เพราะฝันเห็นนิมิต ๑๖ ประการ
เมื่อนำนิมิตแห่งความฝันทั้งหมดไปเล่าให้พราหมณ์ปุโรหิตฟัง พราหมณ์ทั้งหลายต่างก็บอกให้หม่อมฉันจัดพิธีบูชายัญด้วยวัตถุสิ่งของทุกอย่าง
และสัตว์ทุกชนิด ๆ ละ ๔ อย่าง และในขณะนี้พวกพราหมณ์กำลังจัดเตรียมสัตว์สิ่งของและสถานที่ในการทำพิธีบูชายัญให้แก่หม่อมฉันอยู่พระเจ้าข้า”
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงบอกเหตุผลในการเสด็จมาในครั้งนี้จบแล้ว
พระองค์ก็ทรงกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาต่อในทันทีว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุดในโลกและเทวโลก
เพราะพระองค์ทรงรู้เหตุที่เป็นไปทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต เหตุที่พระองค์ทรงไม่รู้ไม่มีเลย
ฉะนั้นขอพระองค์ทรงเมตตาพยากรณ์ความฝันทั้ง ๑๖ ประการ ให้หม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า”
(นี่คือสิ่งที่เราต้องศึกษาเรียนรู้นะจ๊ะ
จะไปขอความรู้จากใคร ต้องกล่าวสรรเสริญชื่นชมเขาก่อน
นี่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทำถูกหลักวิชชา ถ้าเราไปพูดอย่างนี้ ทำให้เขามีอารมณ์อยากพูด
ต้องอย่างนี้ก่อนนะ)
เมื่อพระบรมศาสดาได้ฟังเช่นนั้น พระองค์ก็ตรัสด้วยพระอาการอันสงบเสงี่ยมสง่างามว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตร ที่มหาบพิตรตรัสนั้นถูกต้องแล้ว
ผู้อื่นที่จะรู้ผลของความฝันนี้ไม่มีเลย ฉะนั้นเราจะทำนายความฝันทั้ง ๑๖
ประการให้แก่มหาบพิตร ขอมหาบพิตรทรงเล่าความฝันเหล่านั้นตามที่ทรงเห็นเถิด”
(การที่พระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้ ก็มิได้หมายความว่า
พระองค์จะทรงยกตนให้สูงกว่าบุคคลอื่นแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีปกติกล่าวคำจริง
และไม่ติดอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ หรือต้องการให้ใครมายกย่องสรรเสริญ
แต่ตรงกันข้ามผู้ที่ยกย่องสรรเสริญพระองค์กลับจะได้รับอานิสงส์ คือ บุคคลนั้นจะได้รับความเคารพยกย่องสรรเสริญด้วย)
๑
โคตั้งท่าจะชนกัน
จากนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเล่านิมิตแห่งความฝันประการแรกให้พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าฟังว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันฝันว่า มีโคตัวผู้ สีเหมือนดอกอัญชัน ๔ ตัว
กำลังวิ่งมาสู่ท้องพระลานหลวงจากทิศทั้ง ๔ ราวกับมันจะมาพุ่งชนใส่กัน ในความฝันนั้นมหาชนต่างก็พากันมามุงดูโคที่กำลังจะชนกัน
แต่โคก็ไม่ชนกันสักที ได้แต่ขู่คำรามแล้วก็ถอยกลับออกไปอย่างนั้น
นิมิตแห่งความฝันนี้จะมีผลเป็นอย่างไรหรือพระเจ้าข้า”
เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังนิมิตแห่งความฝันประการแรกจบ
ก็ทรงพยากรณ์ว่า
“มหาบพิตรผล ของความฝันนี้จะยังไม่เกิดขึ้นในสมัยของพระองค์
และในยุคสมัยที่พระศาสนาของเราเจริญรุ่งเรืองอยู่
แต่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตกาลเมื่อโลกถึงยุคเสื่อม คือในยุคที่มนุษย์เสื่อมจากศีลธรรม
เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด อีกทั้งเป็นยุคที่ภิกษุนอกรีตมีจำนวนมากกว่าภิกษุผู้เคร่งครัดในศีลและข้อวัตรปฏิบัติ
ซึ่งจะอยู่ในรัชสมัยที่พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมขึ้นครองราชย์
กุศลกรรมของผู้คนก็จะน้อยลงในยุคนั้น แล้วก็อกุศลกรรมจะหนาแน่นขึ้น
ในกาลที่โลกเสื่อมลงนี้เอง จะเกิดฝนแล้งจนทำให้ข้าวกล้าเหี่ยวแห้ง
ผู้คนหาอาหารได้ยาก มหาเมฆก็จะตั้งขึ้นจากทิศทั้ง ๔ ปานประหนึ่งว่า ฝนกำลังจะตก
เมื่อผู้คนเห็นเช่นนั้น พวกผู้หญิงก็จะรีบเก็บข้าวเปลือกที่กำลังผึ่งแดด
เพราะเข้าใจว่า ฝนจะตก ส่วนพวกผู้ชายก็จะพากันถือจอบถือตะกร้าออกไปก่อคันกั้นน้ำ
ส่วนฟ้าก็ร้องคำรามเหมือนฝนจะตกแต่ก็ไม่ตก จนในที่สุดมหาเมฆก็จะลอยหายไป เหมือนดั่งโคที่มหาบพิตรฝันเห็นว่า กำลังจะชนกัน
แต่ก็ไม่ชนกันสักที”
ฉะนั้นความฝันนี้จะไม่ทำให้เกิดภัยใด ๆ
แก่มหาบพิตรอย่างแน่นอน เพราะนิมิตที่มหาบพิตรทรงฝันเห็นนั้น
เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะความที่พวกพราหมณ์ต้องการทรัพย์ของมหาบพิตรจึงได้ทำนายไปอย่างนั้น
เชิญมหาบพิตรตรัสเล่าความฝันประการที่ ๒ ต่อไปเถิด
(ติดตามตอนต่อไป)
วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564