ข้อควรปฏิบัติชาวพุทธ
เมื่อไม่รู้จะอ่านอะไร 3
๘๔.ใส่บาตร
ทุกเช้าให้ลุกขึ้นมาเตรียมอาหารใส่บาตรพระ
เป็นการสั่งสมบุญประจำวันของเรา
และสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา
รักษาธรรมเนียมที่ดีนี้ไว้
ให้มหาชนพุทธบริษัทเขาได้เห็น เขาจะได้ทำตาม
พระพุทธศาสนาจะได้เจริญรุ่งเรือง
เป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกต่อไป
๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๘๕.จุดประทีปในวันพระ
๘๖.วันพระต้องไปวัด๘๗.วันพระต้องรักษาศีล ๘๘๘.ทำไมต้องใส่ชุดขาวมาวัด
ปัจจุบันนี้...“วันพระ”
ถูกหลงลืมจนกระทั่งไม่มีใครสนใจ หรือให้ความสำคัญมากเพียงพอ
ไม่เหมือนกับในสมัยบรรพบุรุษของเรา
แต่ในยุคที่เราเกิดมาสร้างบารมี
มาเป็นต้นบุญต้นแบบ มาเป็นแสงสว่างแก่เพื่อนมนุษย์
หลวงพ่อจึงขอเชิญชวนให้จุดประทีปเอาไว้หน้าบ้านในวันพระ
เพื่อจะบอกให้ทุกคนทราบว่า “วันนี้เป็นวันพระ”
เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ที่เขาผ่านไปผ่านมา
จะได้นึกถึงว่า “วันนี้เป็นวันพระ” ควรจะทำแต่สิ่งที่เป็นกุศลธรรม
เขาจะได้ตรึกระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย
๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
เราชาวพุทธต้องหยุดวันพระ
ไปเข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม
ไปบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ๒
หรืออย่างน้อยก็ ๓ ประการ คือ
ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น
และทุกครั้งที่ไปวัด อย่าลืมชวนบุตรหลานของเราไปด้วย
เตรียมภัตตาหารหวานคาว
ไปถวายพระภิกษุ สามเณร และเลี้ยงผู้ประพฤติธรรมที่วัด
ไปช่วยกันทำความสะอาดวัด ปัดกวาดเสนาสนะ
อะไรเป็นทางมาแห่งบุญเราทำทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเก็บขยะมูลฝอย จัดวางรองเท้าให้เป็นระเบียบ
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ๑) ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ทาน ๒) สีลมัย บุญสำเร็จจากการรักษา
ศีล ๓) ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการเจริญภาวนา ๔) อปจายนมัย บุญสำเร็จจากการประพฤติถ่อม
ตน ๕) เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จจากการช่วยเหลือในกิจที่ชอบ ๖) ปัตติทานมัย บุญสำเร็จจากการ
ให้ส่วนบุญ ๗) ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จจากการอนุโมทนาส่วนบุญ ๘) ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จ
จากการฟังธรรม ๙) ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จจากการแสดงธรรม ๑๐) ทิฏฐุชุกรรม บุญสำเร็จจาก
การทำความเห็นให้ตรง
ให้ความเคารพในบุญสถาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระรัตนตรัย
เคารพในพุทธบุตร เราจะประเคนภัตตาหารก็ให้เคารพในทาน
จะฟังธรรมก็ต้องเคารพในธรรม
แล้วก็นำแต่สิ่งดี ๆ เข้าไปในวัด สิ่งไม่ดีให้เอาออกไปนอกวัดให้หมด
เช่น สุราเมรัย บุหรี่ ยาเสพติด ภาพลามกอนาจาร
สิ่งไม่ดีทั้งหลายเหล่านี้เอาออกไปให้หมดเลย
นี่คือสิ่งที่ปู่ย่าตายายได้ปฏิบัติเป็นเนติแบบแผนสืบต่อกันมา
แต่ปัจจุบันเราปล่อยปละละเลยไม่สนใจ
เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องฟื้นฟูสิ่งดี ๆ นี้
ให้หวนคืนกลับมาใหม่
๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ในวันธรรมดาชาวพุทธต้องถือศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
และควรถือศีล ๘ ในวันพระ
เท่ากับเราได้เป็นต้นบุญต้นแบบในการช่วยกันฟื้นฟูวันพระ
ให้ชาวพุทธทั้งหลายได้เห็นคุณค่า
วันพระไหน ที่ตรงกับวันทำงาน เราก็ถือศีล ๘
เมื่อเพื่อนร่วมงานถามเราจะได้ตอบว่า
เราถือศีล ๘ เพราะวันนี้เป็นวันพระ
ใหม่ ๆ เขายังไม่เข้าใจ เขาอาจจะหัวเราะ
และว่า เราเชย เรางมงาย หรืออะไรก็แล้วแต่
เราก็ต้องใจเย็น ๆ ค่อย ๆ อธิบายให้เขาฟังว่า ไม่ใช่เชย
ไม่ใช่งมงาย แต่นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธ
เราเป็นชาวพุทธเราก็จะต้องปฏิบัติอย่างนี้
แล้วอีกหน่อยเสียงหัวเราะจะค่อย ๆ หายไปทีละคนสองคน
แล้วก็จะเปลี่ยนมาเป็นความเลื่อมใส
แม้บางคนจะยั่วเย้า
แต่ถ้าเรายิ้มแย้ม และตอบไปด้วยเหตุผล
แม้ภายนอกเขาจะยั่วเย้าอย่างไร แต่ในใจเขาเลื่อมใส
แล้วเขาจะเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะมาศึกษาธรรมะ
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราก็จะได้บุญด้วย ในฐานะเป็นผู้แนะ และเป็นผู้นำ
แนะ คือ ให้ธรรมทาน
นำ คือ ทำให้ดู
ได้ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน
และเป็นทางมาแห่งบุญของเราด้วย
๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
เราชาวพุทธเวลามาวัด หรือไปร่วมงานบุญต่าง ๆ
ควรแต่งกายด้วยชุดขาว ๆ ที่สุภาพเรียบร้อย
การสวมใส่ชุดขาว ๆ จะมีอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ
1. ชุดขาวจะทำให้เราเกิดจิตสำนึกในการเป็นอุบาสกอุบาสิกา
ผู้นั่งใกล้ต่อพระรัตนตรัยมากขึ้น ทำให้เกิดความสำรวม
ระมัดระวังกิริยามารยาทไปโดยอัตโนมัติ
2. ทำให้จิตใจสงบ สะอาด ผ่องใส เป็นการเตรียมตัวก่อนการฟัง
ธรรม ปฏิบัติธรรม เป็นเหตุให้เข้าถึงธรรมได้ง่าย
3. ประหยัดและเกิดความเสมอภาค ไม่มีการประกวดประชันกันว่า
ใครรวย ใครจน ใครสวย ใครหล่อ พอเข้าวัดทุกคนเสมอภาค
เหมือนกันหมดในการสร้างบารมี สร้างความดี
4. ทำให้บำเพ็ญบุญได้เต็มที่ เพราะใส่ชุดขาวจะทำให้ไปเที่ยวที่อื่น
ได้น้อยลง
5. ดูแล้วงดงามตา เป็นที่เลื่อมใสแก่มหาชนทั้งหลาย
๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
๘๙.วัดสะอาด...ใจสะอาด
ช่วยกันดูแลวัดวาอารามของเราให้สะอาดร่มรื่น
ซึ่งตอนที่คุณยายอาจารย์ฯ ยังมีชีวิตอยู่
ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
ถือเป็นชีวิตจิตใจทีเดียว ท่านมักย้ำเตือนเสมอว่า
วัดวาอารามที่สะอาดร่มรื่นแสดงถึงจิตใจของผู้ที่มีคุณธรรมสูง
และเป็นการให้เกียรติผู้ที่มาเยี่ยมวัดด้วย
ท่านถือว่าตรงนั้นเป็นห้องรับแขก
ถ้าเราทำวัดให้สกปรก ห้องน้ำไม่สะอาด
เหมือนกับเราไม่ยินดีต้อนรับแขก
เพราะฉะนั้นเราจะต้องเคารพในการปฏิสันถาร
ด้วยการช่วยกันทำความสะอาดวัด
ไม่ให้มีสิ่งสกปรกรกรุงรังหลงเหลืออยู่เลย
นี่เป็นปฏิปทาของคุณยายอาจารย์ฯ ของเรา
ก็ขอให้ลูกหลานคุณยายได้สืบทอดวัฒนธรรมนี้กันต่อไป
๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
๙๐.ความสะอาดดึงดูดทรัพย์
ทำความสะอาดบ้านพักของเราให้ดี
โดยเฉพาะห้องพระ ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญของครอบครัว
จะต้องร่วมแรงร่วมใจช่วยกันทำความสะอาด
ให้สถานที่นั้นเหมาะสมที่จะเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา
คือพระพุทธปฏิมากรซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์
อย่าให้มีหยากเยื่อ หยากไย่ หรือแม้ฝุ่นละอองต่าง ๆ
ถ้าห้องพระบ้านเราสะอาด เป็นระเบียบ
เทวดาอารักษ์ทั้งหลายเขาก็จะมากราบไหว้บูชา
และจะคอยตามปกป้องดูแลรักษาครอบครัวเรา
สิริมงคลก็จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ทำความสะอาดห้องพระเป็นห้องแรก
แล้วตามด้วยห้องอื่น ๆ ภายในบ้าน และรอบ ๆ บ้าน
ให้บ้านของเราเป็นสัปปายะ สะอาด น่าอยู่
น่าประพฤติปฏิบัติธรรมตามส่วนของคฤหัสถ์
แล้วชักชวนกันปฏิบัติธรรมร่วมกันทั้งบ้าน
ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีด้วยรอยยิ้ม
พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ไม่ให้มีคำหยาบเลย
บรรยากาศดี ๆ ก็จะได้เกิดขึ้นภายในบ้านของเรา
เทวดาก็จะได้ลงรักษา และอนุโมทนาสาธุการ
๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๙๑.ปิดโทรศัพท์มือถือขณะฟังธรรม ปฏิบัติธรรม
ในช่วงของการปฏิบัติธรรม หรือฟังธรรมนั้น
เป็นช่วงที่เราจะต้องปลอดกังวลจากทุกสิ่ง
เพราะฉะนั้นในทุกวันอาทิตย์จึงจำเป็นต้องขออนุญาต
ให้พิธีกรได้แนะนำให้ปิดเครื่องมือสื่อสาร
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือก็ดี หรืออะไรก็ดี
ปิดไว้ชั่วคราว ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติธรรม หรือฟังธรรม
ในสมัยพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำฯ
เวลาท่านสอนธรรมะปฏิบัติ ท่านจะพูดเตือนบ่อย ๆ เป็นช่วง ๆ
แม้ตัวท่านเองก็ทำเป็นต้นแบบ คือ เวลาท่านเห็นใครนั่งปฏิบัติธรรม
ไม่ว่าผู้ปฏิบัตินั้นจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย
ท่านจะเดินเบา ๆ ผ่านไป ท่านให้เหตุผลว่า
บางคนเขากำลังปฏิบัติดีอยู่ กำลังจะเข้าถึงธรรมอยู่แล้ว
ถ้าเราเดินมีเสียงดังจะไปสะเทือนสมาธิของเขา
ก็จะทำให้เขาพลาดโอกาสที่ดีไป ตัวเราเองก็จะได้บาป
ทำให้ทุกชาติที่เกิดมาเวลาปฏิบัติธรรมจะได้ยากทุกครั้ง
เวลานั่งธรรมะดี ๆ ก็จะมีอุปสรรคเกิดขึ้น ทำให้เราต้องเลิกละความเพียร
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงทำเป็นต้นแบบเช่นเดียวกัน
วันหนึ่งสามเณรบัณฑิตกำลังปฏิบัติธรรมใกล้จะบรรลุพระอรหันต์
ขณะเดียวกันพระสารีบุตรกำลังจะนำอาหารบิณฑบาต
ข้าวคลุกปลาตะเพียนมาให้ เพราะกลัวว่าสามเณรจะไม่ได้ฉัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทราบในข่ายพระญาณว่า
วันนี้สามเณรจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
แต่ถ้าหากพระสารีบุตรมาถึงก่อน
แล้วเกิดไปเรียกสามเณร หรือไปทำเสียงดัง
ก็จะทำให้กระทบการปฏิบัติธรรมของสามเณร
ทำให้สามเณรพลาดโอกาสการเป็นพระอรหันต์
พระองค์ยังต้องเสด็จไปดักรอพระสารีบุตรที่หน้าประตู
แล้วชวนคุยเรื่องธรรมะ ถามโน่นถามนี่ไปจนกระทั่งเห็นว่า
สามเณรบรรลุอรหัตผลแล้ว จึงเปิดทางให้พระสารีบุตรไป
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการทำให้เกิดเสียงดัง
ไปรบกวนผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย
มันจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมของเรา
และอวัยวะที่เกี่ยวกับการฟังเสียง หูของเราจะใช้ไม่ค่อยได้ดี
อย่างน้อยก็ ๕๐๐ ชาติ
๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๙๒.เจริญมรณานุสสติ
มีลูกหญิงของหลวงพ่อคนหนึ่งมาปฏิบัติธรรมทุกวัน
จิตใจเบิกบาน อยากจะนั่งให้ได้ทุก ๆ วัน
จึงมาถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อคะ
ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ประมาทในชีวิต
เพราะว่าเวลาไม่ประมาทในชีวิตแล้วจะทำให้ขยันนั่งธรรมะ
หลวงพ่อก็ตอบว่า ให้เจริญมรณานุสสติ
ให้นึกว่าแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระมหาสาวก
พระอริยบุคคลยังต้องตาย
ผู้ที่ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่เรียกว่า โคตรภูบุคคล
หรือผู้เข้าถึงฌาน เป็นฌานลาภีบุคคลก็ยังต้องตาย
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองทวีปทั้ง ๔ มีฤทธิ์ มีอานุภาพ
มีรัตนะ ๗ โคจรไปในอากาศได้ก็ยังต้องตาย
พระราชา มหากษัตริย์ เศรษฐี มหาเศรษฐี ยาจก วณิพก ล้วนตายหมด
ให้นึกอย่างนี้ การนึกอย่างนี้เรียกว่า “การเจริญมรณานุสสติ”
เธอบอก ไม่ไหว อย่างนี้ยาวเกินไป ขอสั้น ๆ ได้ไหม
หลวงพ่อก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นเอาอย่างนี้มีอยู่ ๒ คำ จำง่าย ๆ
เคยเห็นไหม เวลารถพยาบาลบรรทุกคนเจ็บแล่นผ่านมา
เขาจะเปิดหวอดังลั่นไปบนท้องถนน
ฟังให้ดีนะ เสียงมันคล้าย ๆ อย่างนี้
ตายแน่ ตายแน่ ตายแน่
นี่แหละเจริญมรณานุสสติทางลัดที่สุด
หัดท่องไว้นะ รับรองขยันนั่งธรรมะตัวตั้งเลย
๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕
วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560