เทคนิคเพื่อเข้าถึงธรรม 2
เมื่อไม่รู้จะอ่านอะไร 1
๓๘. สม่ำเสมอ
ความสม่ำเสมอของการปฏิบัติธรรม
เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าถึงพระธรรมกายได้
แม้ว่าเราจะมีภารกิจมากน้อยเพียงใด
ก็ขอให้เพิ่มสิ่งนี้เป็นภารกิจประจำวันเข้าไปด้วย
และไม่ว่าเราจะอยู่ในอารมณ์ใดก็ตาม
จะหงุดหงิด ขุ่นมัว หรือ อารมณ์แจ่มใส
สุขภาพจะแข็งแรง หรือ จะเจ็บป่วยไข้
ซึ่งก็เป็นธรรมดาของสังขาร
หรือกลับมาดึก ๆ ดื่น ๆ แค่ไหน ก็ขอให้ปฏิบัติธรรมไปเถอะ
การที่เราปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอนี้
จิตใจของเราจะถูกขัดเกลา
ให้สะอาด บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน
ใจของเราจะคุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของพระธรรมกาย
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เท่ากับเรากำความสำเร็จ
ในการเข้าถึงพระธรรมกายล้านเปอร์เซ็นต์
๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
๓๙. บรรลุธรรมได้ด้วยความเพียร
ความขยันหมั่นเพียร
เป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติธรรม
ผู้รู้ทั้งหลายที่ท่านได้บรรลุธรรม ก็อาศัยความเพียร
สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความขยันหมั่นเพียร
ก็คือ ความเกียจคร้านนั่นเอง
ซึ่งมีวิธีแก้ได้ด้วยคำ ๆ เดียวเท่านั้นก็คือ “ขยัน”
ถ้าขยันได้ ความเกียจคร้านก็จะหมดไป
๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
๔๐. ต้องไปให้ถึง
พระรัตนตรัยนี่สำคัญมาก
ท่านสิงสถิตอยู่ในตัวของเรา ต้องไปให้ถึงให้ได้
พยายามหมั่นทำทุกวันทุกคืน
แล้วก็สังเกตว่า เราทำถูกหลักวิชชาไหม
นอกเหนือจากความเพียรที่เรามีอย่างสม่ำเสมอ
ถ้ายังไม่ถูก ก็ทำให้ถูก หรือยังไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้สมบูรณ์
เดี๋ยวเราก็จะต้องสมหวัง
๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๔๑. ทำถูกหลักวิชชา
หลักวิชชาของการปฏิบัติธรรมนั้นมีอยู่
ถ้าปฏิบัติให้ถูกหลักวิชชาแล้ว ต้องเข้าถึงทุกคน
ที่เข้าไม่ถึง เพราะเกียจคร้าน หรือขยันแต่ทำไม่ถูกวิธี
ถ้าหากว่า มีความเพียรสม่ำเสมอทุกวัน และทั้งวัน
แล้วก็ไม่มีข้ออ้าง ข้อแม้ และเงื่อนไข
ทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นกุศล มีกุศลกรรมอยู่ในใจเสมอ
จิตใจผ่องใส สว่างไสว ต้องเข้าถึงธรรมกายอย่างแน่นอน
๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
๔๒. เอาจริงต้องได้
การปฏิบัติธรรม
ถ้าตั้งใจจริง ทำกันจริง ๆ
และปรารถนาจะเข้าถึงธรมอย่างแท้จริง
ด้วยความสมัครใจ
“ต้องได้” แล้วก็ต้องได้ทุกคนด้วย
๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๔๓. ล้างตัว... ล้างใจ
อาบน้ำล้างตัว ก็ให้ล้างใจไปด้วย
ล้างหน้า แปรงฟันไป ให้ใจใส ๆ
นึกถึงดวง นึกถึงองค์พระ หรือทำใจว่าง ๆ
ทำไปพร้อม ๆ กัน อย่างสบาย ๆ
หรือล้างจาน ก็ล้างใจไปด้วย จานสะอาด ใจก็บริสุทธิ์
ทำอย่างนี้ เราจะได้ไม่เสียเวลา อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน
กวาดบ้าน ถูบ้าน หรือ ล้างจานกันไปเปล่า ๆ
ต้องให้เป็นทางมาแห่งบุญ
ทำความคุ้นเคยกับศูนย์กลางกาย
กับการหยุดนิ่งทีละเล็กทีละน้อย อย่างเป็นธรรมชาติ
เมื่อทำแล้ว ใจของเราจะคลอเคลียนัวเนียอยู่ภายใน
เราจะค่อย ๆ คุ้นกับศูนย์กลางกาย
คุ้นกับการวางใจว่าง ๆ เบา ๆ
คุ้นกับการนึกถึงองค์พระ หรือดวงอย่างสบาย ๆ
๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๔๔. ปฏิวัติความคิด
ออกพรรษาแล้ว ปฏิวัติความคิดกันใหม่
ให้รักการปฏิบัติธรรม
ใครที่ไม่เคยรักเลย หรือรักบ้าง ไม่รักบ้าง
ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นรักแท้ รักกันจริง ๆ
แล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อขอยืนยันว่า...
ถ้าเอาจริง ตั้งใจจริงแล้ว ต้องได้ทุกคน
๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๔๕. อย่าลืมหยุดกับนิ่ง
จะทำมาหากินอะไรก็ทำไปเถิด
แต่หยุดกับนิ่ง ก็ไม่เลิกรา
ให้ภารกิจ ธุรกิจ กับจิตใจไปด้วยกัน
ให้หยุด ให้นิ่ง ให้เข้าถึงธรรมให้ได้
แล้วจะได้รู้รสชาติของความสุขที่เกิดจากใจที่หยุดที่นิ่งนั้น
๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๔๖. ทำใจให้ผ่องใส
ทำใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ อย่าให้ใจเศร้าหมอง
สิ่งใดที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา
ต้องกลั่นกรอง ให้เหลือแต่สิ่งดี ๆ
ที่จะอยู่ในใจอันสุกใสสว่างไสวของเรา
เพราะไม่มีวันใดวันหนึ่ง เราก็ต้องไปสู่ปรโลก
วันนั้น... เราจะต้องไปด้วยใจที่สว่างสุกใส
ไม่มีมลทินเลย
๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
๔๗. เล่นไม่ยาก
มีคำอยู่คำหนึ่ง ที่เราเคยฟังมาแล้ว แต่ก็มักฟังผ่าน
คือคำว่า “เล่นไม่ยาก”
หมายความว่า ถ้าทำแบบเล่น ๆ ไม่ยาก แต่เอาจริง ยาก
เหมือนเราเล่นเตะฟุตบอล ตีแบด (Badminton)
เล่นแล้วมีความสุขสนุกสนาน
การปฏิบัติธรรมก็คล้าย ๆ กัน
ให้ทำเหมือนเล่น ๆ เพราะ เล่น ไม่ยาก
แต่เอาจริงเอาจัง ยาก
๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๔๘. เรื่องธรรมดา
เราเป็นคนธรรมดา ต้องทำแบบคนธรรมดา
ต้องยอมรับว่า ความมืด ความเมื่อย ความฟุ้ง
เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนจะต้องเจอ
ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกเฉพาะเราอยู่คนเดียว
ทุกคนต้องเจอทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น อย่าไปวิตกกังวลทุกข์ร้อน
๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
๔๙. คือความเรียบง่าย... ภายใน
ครูสอนภาษาท่านหนึ่ง กล่าวว่า
การเรียนภาษาต้องง่าย ๆ ตรงไปตรงมา
เพราะว่า ภาษาหรือประโยคของคำพูด
ไม่ได้เริ่มต้นมาจากนักปราชญ์ บัณฑิต หรือบัญญัติสวรรค์
แต่เริ่มต้นจากชาวบ้านธรรมดา
คือ มีประธาน มีกิริยา แล้วก็มีกรรม
ท่านก็ยกตัวอย่าง เช่น ฉันกินข้าว
และหลังจากนั้นก็มีผูกประโยคกันให้ซับซ้อน
ให้ดูเลิศหรู สละสลวยกันขึ้นมา
แต่จริง ๆ ก็มีความหมายแค่ ฉันกินข้าว
การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน
จริง ๆ แล้วมันเรียบง่าย สบาย เข้าถึงได้โดยไม่ยาก
ทำใจให้อินโนเซนต์เหมือนเด็ก ๆ ง่าย ๆ
เดี๋ยวก็เข้าถึงได้
และสิ่งที่เป็นความลับ เหลือเชื่อ
เช่น นรก สวรรค์ นิพพาน ก็จะถูกเปิดเผยออกมา
สว่าง กระจ่าง เหมือนเราชักม่านแห่งความมืดในยามรัตติกาล
ให้แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ ได้โคจรทำความสว่างแก่โลก
ก็ง่าย ๆ แค่นั้นเอง
๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
๕๐. ตรึก
ตรึก คือ นึกอย่างสบาย ๆ
คล้าย ๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราคุ้นเคย
นึกง่าย ๆ อย่างสบาย ๆ อย่างนี้เรียกว่า ตรึก
๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560