ปฏิบัติธรรมตามหลักวิชชา
เมื่อไม่รู้จะอ่านอะไร 1
๑๐. พอดี
การปรับกาย ปรับใจ ต้องทำทุกรอบ
โดยเอาตัวเราเป็นเกณฑ์ เป็นครู
เราแสวงหาความพอดี ว่า แค่ไหนพอเหมาะพอดี
ลองปรับดู ทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วเราจะพบความพอดี
ความพอดีนั้นมีลักษณะ คือ รู้สึกโปร่ง เบา ไม่เครียด
แล้วเราพอใจ ชอบใจอารมณ์นั้นแหละ
รักษาอารมณ์นั้นให้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอะไร
ไม่ช้า ความพอดีนั้น จะนำใจของเรากลับเข้าไปหยุดนิ่งอยู่ภายใน
แล้วแสงสว่างจะเกิดขึ้นเอง
๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
๑๑. ไม่ยินดียินร้าย
เส้นทางสายกลาง ใจต้องเป็นกลาง ๆ
ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ยินดีก็ไม่ได้... ยินร้ายก็ไม่ได้... นิ่งเฉย ๆ ให้ใจเป็นกลาง ๆ
ทำเหมือนไม่ได้ทำ
ทำอย่างนี้ แล้วธรรมะจะก้าวหน้า
๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
๑๒. ตัวสบาย ใจสงบ
เวลาที่เรานั่งธรรมะ
ให้นั่งทำตัวสบาย ๆ ทำใจให้สงบ ให้หยุด ให้นิ่ง
แล้วก็ให้นึกถึงศูนย์กลางกายเป็นชีวิตจิตใจตลอดเวลาเลย
อะไรในโลกนี้ ไม่สำคัญเท่าศูนย์กลางกาย
นึกเบา ๆ สบาย ๆ
แค่ไหนสบาย ให้ดูตัวเราเป็นเกณฑ์
ดูตอนที่เราพอใจอารมณ์ไหน อยากจะอยู่กับอารมณ์นี้นาน ๆ
ตรงนั้นแหละ อารมณ์สบาย แล้วจะไม่รู้สึกตึงเลย
แต่ถ้าร่างกายประท้วงบอกว่า นี่ตึงไป แสดงว่า ผิดวิธี
๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕
๑๓. อารมณ์สบาย
ไม่ต้องไปควานหาความสบาย
ขนาดไหนถึงจะสบาย
อย่างนี้สบายไหม ไม่ต้องไปควานหา
แค่ทำใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ เดี๋ยวความสบาย
ความสว่าง ดวงธรรม กายภายใน องค์พระธรรมกายจะมาเอง
แค่หยุดกับนิ่งเฉย ๆ จะเป็นตัวสำเร็จ
เป็นทางด่วนพิเศษ ที่ทำให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
เพราะฉะนั้น อย่ามัวควานหาความสบายว่า แค่ไหนถึงจะสบาย
ไม่ต้องหา แค่นั่งนิ่ง ๆ เฉย ๆ เดี๋ยวก็มาเองนะลูกนะ
๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๔. พ่อครัวชั้นดี
วางใจให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม
ให้ได้ต่อเนื่องกันไป ทำอย่างนี้ แค่นี้เท่านั้น
อย่าทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
แล้วใจของเราก็จะถูกปรับปรุง
ปรับใจ ปรุงใจของเราให้ถูกส่วนเอง
ใจก็จะค่อย ๆ ละเอียดลงไป ๆ
เหมือนพ่อครัวชั้นดีที่มีฝีมือปรุงอาหารให้มีโอชารส
เราก็ต้องทำประดุจพ่อครัวชั้นดีอย่างนั้น
ปรุงใจของเราด้วยวิธีการดังกล่าว
คือ หยุดนิ่งเฉย ๆ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม อย่างสบาย ๆ
๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๕. ดอกเตอร์ทางธรรม
การดูไปเรื่อย ๆ คือ การทำใจให้หยุดนั่นเอง
ถ้าเห็นดวงได้ชัดเจน ทำใจให้หยุดนิ่งกลางดวงได้
เดี๋ยวเราจะเข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน
จะได้ปริญญาทางธรรม จบดอกเตอร์ทางธรรม
ต่างจากดอกเตอร์ทางโลก ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานหลายปี
ต้องดูหนังสือ ต้องอ่าน ต้องเขียน
ต้องทำวิจัย ต้องคิด ต้องพูด สารพัดอย่าง
แต่นี่ไม่ต้องทำอะไร แค่ทำเฉย ๆ หยุดนิ่งให้ถูกวิธี
๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๖. ทำใจหลวม ๆ
จะมืดหรือสว่าง ไม่ต้องไปกังวล
ทำใจหลวม ๆ เหมือนสวมเสื้อที่ไม่คับ สวมใส่แล้วสบาย
เราก็ต้องทำใจหลวม ๆ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม
ให้ใจใส เยือกเย็น บริสุทธิ์ ผ่องใส
ทำอย่างนี้ แค่นี้เท่านั้น
เดี๋ยวใจจะปรับปรุงให้ถูกส่วน ไปสู่จุดแห่งความพอดีเอง
๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๗. บริกรรมภาวนา
เวลาประกอบบริกรรมภาวนา สัมมาอรหัง
ไม่ใช่ท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง
การท่อง คือ การใช้กำลัง อย่างนี้ไม่ถูกวิธี
เราจะนึกถึงคำภาวนาอย่างเบา ๆ ละเอียดอ่อน
คือ นึกนิดเดียว อย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ เสียงเพลง
หรือเสียงสวดมนต์ที่เราคุ้นเคย
ดังออกมาจากในใจของเรา โดยที่เราไม่ได้นึกถึงเลย
๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๘. เมื่อใจหยุดนิ่ง... จะทิ้งคำภาวนา
เวลาใจหยุดนิ่ง จะทิ้งคำภาวนาไป
คล้าย ๆ กับเราลืมภาวนา แต่ว่าใจไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
อยากอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ กลางดวงใส ๆ กลางท้อง
ที่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้
ก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่
ให้รักษาใจที่หยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม อย่างสบาย ๆ
ให้ต่อเนื่องกันไป
๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๙. ต้องสบาย...
การจะเข้าถึงพระธรรมกายได้ ต้อง “หยุด” อย่างเดียว
การฝึกให้หยุดใช้หลัก คือ ต้องสบาย
ฝึกใจให้สบาย ๆ ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส
ถ้าใจทิ้งทุกสิ่ง ก็จะหยุดนิ่งอยู่ตรงกลาง
กลับเข้าสู่ที่ตั้งดั้งเดิมของใจ คือฐานที่ ๗
ถ้าเมื่อไร นำใจเข้าสู่ที่ตั้งดั้งเดิมได้ จะเข้าถึงพระธรรมกาย
๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒
๒๐. อย่ากังวล
เมื่อย ก็ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนท่านั่ง
เรื่องร่างกายอย่าไปกังวล
เราสนใจที่ใจหยุดใจนิ่งเท่านั้น
เราไม่ได้มาแข่งกับอะไร หรือจะเอาแพ้ชนะ
แล้วเราก็ไม่ได้มาฝึกความอดทนด้วย
แต่เรามาฝึกหยุดนิ่ง มันคนละเรื่องกัน
ต้องมุ่งการหยุดนิ่งภายในเป็นสำคัญ
ส่วนเรื่องข้างนอกจะเคลื่อนไหวอย่างไร อย่าไปสนใจ
๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
๒๑. คลาย ...เดี๋ยวก็หาย
การฟุ้งซ่าน ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่สมหวัง
เราจะต้องอนุญาตให้ตัวเรา
ปล่อยความคิดที่สะสมไว้ในใจให้ผ่านไปบ้าง
อย่าไปต้าน อย่าไปรำคาญ และอย่าไปกังวล
ให้มันคลาย เดี๋ยวก็หาย
เหมือนน้ำกำลังเชี่ยว อย่าเอาเรือไปขวาง เดี๋ยวจะตึงเครียด
๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
๒๒. อย่าตั้งใจมากไป
ตั้งใจมากไปทำไม
อย่างไรเราก็ได้อยู่แล้ว เพราะเรามีพระธรรมกายในตัวทุกคน
ศูนย์กลางของเราก็มี
ใจของเราที่จะไปถึงศูนย์กลางกายก็มี
เหลือเพียงอย่างเดียว ปฏิบัติให้ถูกวิธี
คือ ทำตัวให้สบาย ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง
แล้วก็เฉย ๆ ที่ศูนย์กลางกาย
อย่าไปนั่งแข่งกับวันเวลา
ให้กำหนดใจที่ศูนย์กลางกาย
ถ้าตึงหรือเครียดอย่าไปฝืน ให้ลืมตาขึ้นมา
นึกถึงสิ่งที่ทำให้ใจเราสดชื่น
อาจจะเป็นเรื่องของธรรมชาติ ความงามของดอกไม้
หรือเรื่องของความดี เรื่องบุญกุศล
ความอินโนเซ้นท์ของเด็ก ๆ หรือสิ่งที่ทำให้ใจสบาย
เมื่อสบายแล้ว เราค่อยกลับมาที่ศูนย์กลางกายใหม่
๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕
๒๓. นึกไม่ออก...ไม่เป็นไร
นึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร เอาใจนิ่งเฉย ๆ
เพราะการนึกออกนี่ บางคนก็นึกได้น้อย บางคนก็นึกได้ปานกลาง
นาน ๆ จึงจะเห็นสักคน นึกได้มากถึง ๘๐ – ๙๐%
คล้าย ๆ กับซีร็อก (Xerox)
หรือก็อปปี้ (Copy) ภาพดวงแก้ว เข้าไปไว้ข้างในเลย
นาน ๆ จะเจอสักคนหนึ่ง
นั่นก็เป็นเพราะว่า เขาได้เจริญสมาธิภาวนา
สั่งสมบุญมาหลายภพหลายชาติ
บุญเก่าเขาตามมา พอมาตรึกระลึกนึกถึงดวงใส เขาก็นึกได้ง่าย
เห็นได้ชัดเจน นั่นถือว่า เป็นอสาธารณะ เฉพาะบุคคลนะลูกนะ
๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560